MBA

We constantly research and disseminate knowledge to prepare graduate students to be leaders at the community, national and international levels.

Facebook is a social utility that connects people with friends and others who work, study and live around them. People use Facebook to keep up with friends

Custom Search

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทางเลือกของระบบการจัดการการผลิตและวัสดุคงคลัง

เราจะเห็นว่าระบบจุดการสั่งซื้อใหม่ (Reorder Point) หรือ ROP ระบบการวางแผนความต้องการวัสดุ (Material Requirement Planning) หรือ MRP และระบบทันเวลาพอดี หรือ JIT ต่างเป็นระบบจัดการการผลิตและวัสดุคงคลัง ซึ่งผู้บริหารต้องตัดสินใจเลือกเทคนิคที่เหมาะสมในการดำเนินงานของตน ดังนั้นหัวข้อนี้จะเปรียบเทียบระบบวัสดุคงคลัง เพื่อให้ผู้อ่านนำข้อดีและข้อเสียใช้ประกอบการตัดสินใจ ดังต่อไปนี้

6.8.1จุดการสั่งซื้อใหม่กับการวางแผนความต้องการวัสดุ (Reorder Point Versus Material Requirements Planning) ระบบ MRP จะมีความเหมาะสมกว่า ROP ในระบบการผลิตแบบแยกชิ้น (Discrete Item) ที่ผลิตและเก็บวัสดุคงคลัง โดยระบบ MRP จะได้เปรียบ ROP มากขึ้น ถ้ามีการสั่งซื้อวัตถุดิบที่หลากหลาย ทำให้การวางแผนมีความถูกต้องมากกว่า ROP แม้แต่จะนำระบบ MRP และ ROP มาเปรียบเทียบวัตถุดิบระดับเดียวกัน ระบบ MRP ก็มีประโยชน์มากกว่า เว้นแต่ขนาดการสั่งซื้อที่เล็กที่ มี BOM และความต้องการคงที่เท่านั้น

6.8.2 การวางแผนความต้องการวัสดุกับระบบทันเวลาพอดี (Material Requirement Planning Versus Just – in – time) การเลือกระหว่างระบบผลิตแบบผลัก กับระบบดึง เนื่องจากไม่มีระบบใดระบบหนึ่งดีที่สุด แต่ต้องดำเนินงานโดยผสมผสานจุดแข็งของแต่ละระบบ ระบบ MRP II เป็นระบบที่เหมาะสมสำหรับการวางแผนการจัดการวัตถุดิบรวม การจัดการข้อมูล MRP II เป็นข้อมูลที่ใช้สนับสนุนการบริหารงานในองค์การ แต่จะมีต้นทุนสูง ในทางตรงกันข้ามระบบ JIT เป็นระบบที่มีค่าใช้จ่ายน้อย แต่สามารถควบคุมการไหลเวียนของวัตถุดิบในโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบ Kanban ใช้สำหรับควบคุมวัสดุคงคลังให้อยู่ในระดับต่ำ และสามารถปรับเปลี่ยนอัตราการผลิตได้ตามเวลา
การเลือกระบบการควบคุมวัสดุต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น สายการผลิตที่ไม่มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ระบบ JIT จะสามารถใช้ได้ดี แม้ว่าเทคนิค MRP จะเหมาะสมกับตารางการผลิตในสัปดาห์ แต่ระดับปฏิบัติต้องรับผิดชอบในการผลิตรายวัน ซึ่งเป็นระบบดึง ทำให้ JIT เป็นประโยชน์มากกว่า MRP โดยเฉพาะในสถานภาพการผลิตที่ซ้ำๆ กัน แต่ตารางการผลิตหลากหลาย ระบบการผลิตแบบผสมผสานจะมีความเหมาะสมมากกว่าระบบ MRP ใช้สำหรับแก้ไขเมื่อตารางการผลิตเปลี่ยนแปลง หรือใช้สำหรับประสานกับผู้ขายวัตถุดิบ สำหรับเวลาทำที่ยาว ขณะที่วิธีการดึงใช้สำหรับการไหลเวียนของวัตถุดิบในโรงงาน เช่น Synchro MRP, Rate based MRP II และ JIT-MRP เป็นต้น
ระบบ ROP, MRP และ JIT สามารถใช้ได้ดีภายใต้บางสถานการณ์ ดังนั้นการตัดสินใจเลือกใช้ระบบใดจะมีผลต่อระดับสินค้าคงคลังและความพอใจของลูกค้า ปริมาณวัสดุคงคลังที่มากเกินไป จะมีผลกระทบต่อการบริหารการเงิน และการเติบโตของบริษัท การบริการลูกค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพจะส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งตลาด และถือเป็นความผิดพลาดที่มีราคาแพง ซึ่ง Ritzman, King และ Krajewski (1984) ได้ศึกษาปัจจัยการผลิตที่มีผลกระทบต่อสินค้าคงคลัง ผลิตภาพ และการบริการลูกค้า โดยการศึกษา พบว่า การลดขนาดการผลิตและระยเวลาเริ่มดำเนินงานเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ และความยืดหยุ่นในการทำงานช่วงประยุกต์ให้กับทุกระบบ

การประยุกต์ระบบ JIT เชิงกลยุทธ์

ระบบ JIT เหมาะสมกับกลยุทธ์การดำเนินงานที่ต้องการปรับปรุงอัตราการหมุนเวียนของวัสดุคงคลัง และผลิตภาพของแรงงาน เนื่องจากระบบของ JIT จะให้ความสำคัญกับการลดวงจรวัสดุคงคลัง การปรับปรุงอัตราการหมุนเวียนของวัสดุคงคลัง และการเพิ่มผลผลิตของแรงงาน ซึ่งจะพิจารณาถึงการประยุกต์ระบบ JIT เชิงกลยุทธ์ ดังต่อไปนี้

6.6.1 ลำดับความสำคัญในการแข่งขัน (Competitive Priorities) ระบบ JIT จะให้ความสำคัญกับต้นทุนที่ต่ำและคุณภาพที่คงที่ โดยออกแบบระบบให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และความยืดหยุ่นในกระบวนการผลิต แต่ระบบการผลิตที่เฉพาะเจาะจงตามความต้องการของลูกค้าจะไม่เหมาะสมกับระบบ JIT

6.6.2 กลยุทธ์การกำหนดตำแหน่ง (Positioning Strategy) ระบบ JIT จะเป็นระบบการผลิตแบบให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ โดยจัดคนงานและเครื่องจักรให้อยู่รอบๆ การไหลของผลิตภัณฑ์ และจัดให้เหมาะสมกับลำดับการดำเนินงานในสายการผลิต เมื่องานเสร็จจากสถานีหนึ่งจะถูกส่งต่อไปยังสถานีต่อไปในทันที ซึ่งจะลดเวลารอคอยและวัสดุคงคลังของโรงงาน นอกจากนี้ กระบวนการที่ทำซ้ำจะช่วยให้มองเห็นปัญหาและโอกาสในการปรับปรุงวิธีการทำงานอย่างชัดเจน

6.6.3 ประโยชน์ในการดำเนินการ (Operational Benefits) ระบบ JIT มีประโยชน์ในการดำเนินการ คือ ลดความต้องการพื้นที่ลง, ลดการลงทุนในวัตถุดิบและวัสดุคงคลัง โดยเฉพาะการจัดซื้อวัตถุดิบอะไหล่ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูป, ลดช่วงเวลารอคอยในกระบวนการผลิต
เพิ่มผลิตภาพการผลิตของแรงงานทั้งทางตรง และทางอ้อม, เพิ่มปริมาณการใช้งานเครื่องจักรให้เต็มที่, ต้องการเพียงระบบวางแผนง่ายๆ และช่วยลดงานเอกสาร, จัดลำดับความสำคัญของตารางการผลิต, สนับสนุนให้บุคลากรมีส่วนร่วม และเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์

ระบบ JIT มิได้เกี่ยวข้องแต่การดำเนินงานในระดับปฏิบัติการเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจระดับกลยุทธ์ขององค์การ ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดของระบบการผลิตในปัจจุบันเปรียบเทียบกับการพัฒนาระบบให้เป็น JIT โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้และผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นประการสำคัญผู้บริหารต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานและข้อจำกัดของระบบอย่างชัดเจนก่อนการดำเนินงาน

ระบบ JIT กับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


ระบบ JIT เป็นระบบการดำเนินงานที่นำมาใช้ เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพงานโดยมุ่งเน้นการเลื่อนไหลของระบบงาน โดยไม่ให้เกิดการสะดุดของระบบงาน ตลอดจนลดข้อบกพร่องและของเสียลง หรือให้มีวัสดุคงคลังน้อยที่สุดหรือให้เท่ากับศูนย์ “การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)” เป็นเทคนิคที่สามารถดำเนินงานคู่กับ JIT เพื่อหาข้อบกพร่องในกระบวนการผลิตหรือคุณภาพของผลลัพธ์ เพื่อทำการแก้ไขและปรับปรุง โดยทั้งพนักงาน หัวหน้างาน วิศวกรรม และผู้จัดการต้องช่วยกัน เพื่อให้ระบบ JIT มีความสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์การ โดยที่เราสามารถประยุกต์เทคนิคการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและ JIT ในการดำเนินงาน ต่อไปนี้
6.2.1 ระบบการผลิต นำเทคนิคการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาประยุกต์ ดังต่อไปนี้
- ขจัดปัญหาของเสียที่เกิดขึ้น โดยการปรับปรุงคุณภาพการทำงาน การพัฒนาคุณภาพบุคลากร และการปรับปรุงคุณภาพของวัตถุดิบและระบบการจัดส่งของผู้ขายวัตถุดิบ
- ลดความไม่แน่นอนในการจัดซื้อวัตถุดิบ โดยการประสานงานกับผู้ขายวัตถุดิบหรือเปลี่ยนผู้ขายวัตถุดิบรายใหม่ หรือปรับรูปแบบการจัดส่งให้เหมาะสมหับการใช้งาน
- ลดวัสดุคงคลังให้อยู่ในระดับต่ำ โดยพยายามมองหาข้อบกพร่อง และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม
6.2.2 ระบบบริการ ประกอบด้วยทั้งระบบการผลิตและงานให้บริการ ซึ่งจะครอบคลุมการจัดตารางการปฏิบัติงาน การรับใบสั่งสินค้า งานบัญชีและการเงิน และการออกใบเสร็จ โดยที่ให้พนักงานและผู้บริหารพยายามช่วยกันค้นหาหนทางอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาระบบงาน เช่น ลดจำนวนคนงานลงจนกระทั่งถึงจุดที่ทำให้การงานล่าช้าลงหรือหยุดชะงัก เพื่อค้นหาปริมาณคนและขนาดของงานที่เหมาะสม เป็นต้น โดยที่เราจะกล่าวถึงระบบ JIT กับการบริการในหัวข้อต่อไปนี้

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ตลาดในระบบเศรษฐกิจ

ตลาดในระบบเศรษฐกิจนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยทำให้สินค้าจากแหล่งผลิตไปสู่ผู้บริโภค และยังช่วยให้ผู้บริโภคมีสินค้าและบริการมาบำบัดความต้องการได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในบทนี้ จะศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดในทางเศรษฐศาสตร์

ความหมายของตลาดในทางเศรษฐศาสตร์
ตลาด หมายถึง การซื้อขายสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งหรือภาวะการณ์ในการซื้อขายสินค้านั้นๆ ซึ่งก็หมายถึงว่า การซื้อขายไม่จำเป็นต้องมีตลาดเป็นตัวตน ผู้ซื้อและผู้ขายไม่จำเป็นต้องมาพบกัน เพียงแต่ใช้เครื่องมือสื่อสารตกลงกัน

หน้าที่ของการตลาด
การตลาด ซึ่งรวมถึงการรับเสี่ยงภัยและการขนส่ง ย่อมมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในฐานะเป็นขั้นหนึ่งของกระบวนการผลิต ทั้งนี้ก็เพราะ การผลิต ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นถือว่าจะมีผลผลิต ก็ต่อเมื่อสินค้าได้ถึงมือผู้บริโภคแล้ว เท่านั้น จึงพอสรุปหน้าที่ได้ ดังนี้
• แสวงหาอุปสงค์และคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับอุปสงค์
• เสริมสร้างให้เกิดอุปสงค์
• สนองความต้องการอุปสงค์

ลักษณะตลาดในระบบเศรษฐกิจ
ถ้าแบ่งตลาดในทางเศรษฐกิจออกตามลักษณะของการแข่งขันอาจแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ และตลาดที่มีการเข่งขันไม่สมบูรณ์
• ตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ ลักษณะเด่นของตลาดแบบนี้ คือ

ผู้ชื้อและผู้ขายมีจำนวนมาก
สินค้าที่ซื้อขายมีลักษณะคุณภาพมาตรฐานใกล้เคียงกันมาก
การติดต่อซื้อขายจะต้องกระทำได้โดยสะดวก
หน่วยธุรกิจสามารถเข้าหรือออกจากธุรกิจการค้าได้โดยง่าย
การเคลื่อนย้ายสินค้าและปัจจัยการผลิต จะต้องกระทำได้อย่างสมบูรณ์
• ตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์ การพิจารณาลักษณะตลาดแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์เราอาจแยกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ ด้านผู้ขายและด้านผู้ซื้อ ดังต่อไปนี้

ทางด้านผู้ขาย
ตลาดกึงแข่งขันกึงผูกขาด มีผู้ขายและสินค้าจำนวนมาก สินค้าที่ขายมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่ไม่สามารถทำให้แตกต่างกันได้
ตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย โดยทั่วไปจะมีผู้ขายเพียง 3-5 รายในตลาดเท่านั้น ส่วนใหญ่มักเป็นพวกอุตสาหกรรมหนัก
ตลาดที่มีการผูกขาดด้านการขายที่แท้จริง คือตลาดที่มีผู้ขายเพียงรายเดียว ผู้ขายจะมีอิทธิพลเหนือราคา
ทางด้านผู้ซื้อ

ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด ตลาดประเภทนี้มีผู้ซื้อจำนวนมากแต่ผู้ขายพอใจขายให้แก่ผู้ซื้อบางคนเท่านั้น จึงมีทางควบคุมราคาได้บ้าง
ตลาดที่มีผู้ซื้อน้อยราคา คือ ตลาดที่มีผู้ซื้อน้อยมาก ถ้าผู้ซื้อคนใดเปลี่ยนแปลงปริมาณซ้อจะมีผลกระทบกระเทือนราคาตลาดและผู้ซื้อคนอื่น ๆ ด้วย
ตลาดผูกขาดที่แท้จริงทางด้านผู้ซื้อ เป็นตลาดที่มีผู้ซื้อเพียงคนเดียวผู้ซื้อจึงอยู่ในฐานะเกี่ยงราคาได้ และในที่สุดก็สามารถที่จะกำหนดราคาสินค้าเองได้

Buyer’s Market


ตลาดของผู้ซื้อ คืออะไร
ตลาดของผู้ซื้อ (Buyer’s Market) คือ ตลาดที่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคมีเสรีภาพและโอกาสในการเลือกซื้อมากขึ้น ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อมีความได้เปรียบเหนือผู้ขาย ทำให้ธุรกิจต้องคอยตอบสนองความพอใจให้แก่ลูกค้าหรือผู้บริโภคสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ในสังคมปัจจุบันช่วงที่เราเห็นอยู่นี้ ในขณะที่ผู้บริโภคจัดหาสินค้าและบริการมาใช้ตอบสนองความต้องการนั้น ผู้บริโภคมิได้มีอำนาจเต็มที่ที่จะเลือกซื้อได้ตามใจชอบ เพราะเหตุที่ต้องขึ้นอยู่กับการผลิตและการเสนอของผู้ขายและความเป็นไปของสภาวะเศรษฐกิจหรือเงื่อนไข ข้อจำกัดของทรัพยากรการผลิตต่างๆ แต่กระนั้นก็ดีผู้บริโภคยังมีสิทธิที่จะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อได้เสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้บริโภคยังคงมีอำนาจที่จะต่อต้านหรือละเว้นไม่ซื้อสินค้าและบริการที่ผู้ผลิตเสนอขายให้ ในกรณีที่ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อมากขึ้น ทำให้ตลาดต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อมากกว่าผู้ขายก็จะกลายเป็นตลาดของผู้ซื้อไป
ในสภาพของระบบเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการเกี่ยวกับการผลิตเช่นนี้ การผลิตสินค้าต่างๆย่อมสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้สินค้าที่เสนอมีมากขึ้นยิ่งมีส่วนทำให้ตลาดของสินค้านั้นเป็นตลาดของผู้ซื้อได้มากขึ้น เพราะผู้ซื้อมีทางเลือกในการเลือกซื้อมากขึ้น ถ้าสินค้าใครไม่ดีก็ไม่ต้องซื้อ เพราะแน่นอนว่ายังมีผู้เสนอขายคนอื่นมาให้เลือกซื้ออีก ผู้ขายจะกลายเป็นผู้ที่เสียเปรียบถ้าไม่สามารถสนองตอบความต้องการของผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็นทางด้านคุณสมบัติของสินค้าเอง ราคา หรือแม้แต่สมนาคุณพิเศษ หากผู้ซื้อเห็นว่าไม่ได้รับความพอใจสูงสุดก็จะไปหาซื้อจากคนอื่นแทน ดังนั้นการแข่งขันทางการค้าระหว่างผู้ขายที่มีมากรายเอง ก็ทำให้ตลาดสินค้านั้นๆ กลายเป็นตลาดของผู้ซื้อไปด้วย


ทำอย่างไรถึงจะขายได้ ในเมื่อตลาดกลายเป็นของผู้ซื้อไปแล้ว
เมื่อตลาดกลายเป็นของผู้ซื้อไป ผู้ซื้อมีความได้เปรียบมีอำนาจต่อรองมากกว่าผู้ขาย หากต้องการขายสินค้าให้ได้ต้องสนองความพอใจหรือความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นก็ขายสินค้าของตัวเองไม่ได้ วิธีการสนองตอบความพอใจของผู้บริโภคในปัจจุบันทำกันหลายวิธีเช่น
- ลด แลก แจก แถม เป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย การลดราคาเป็นวิธีการจูงใจอันดับต้นๆ เพราะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตนเองซื้อของถูกลง การแลก แจก แถม ก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตนเองได้อะไรมากขึ้น สร้างความพอใจได้เพิ่มขึ้น
- สร้างความแตกต่างให้สินค้าตนเอง เหมือนเป็นการสร้างตลาดใหม่ไปเลย เมื่อสินค้าของตนแตกต่างจากเจ้าอื่นจะเป็นการลดทางเลือกของผู้ซื้อลงเพราะเจ้าอื่นไม่มีขาย สินค้าแบบเดียวกับของตน

human resource information system

ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล (human resource information system) หรือ HRIS หรือระบบสานสนเทศสำหรับบริหารงานบุคคล (personnel information system) หรือ PIS เป็นระบบสารสนเทศที่ถูกพัฒนาให้สนับสนุนการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่การวางแผน การจ้างงาน การพัฒนาและการฝึกอบรม ค่าจ้างเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย ช่วยให้การบริหารทรัพยากรบุคคลเกิดประสิทธิภาพ โดยที่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคลจะมีดังนี้

1. ข้อมูลบุคลากร เป็นข้อมูลของสมาชิกแต่ละคนขององค์การ ซึ่งประกอบด้วยประวัติเงินเดือนและ สวัสดิการ เป็นต้น

2. ผังองค์การ แสดงโครงสร้างองค์การ การจัดหน่วยงานและแผนกำลังคน ซึ่งแสดงทั้งปริมาณและการจัดสรรทรัพยากรบุคคล

3. ข้อมูลจากภายนอก ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลมิใช่ระบบปิดที่ควบคุมและดูแลสมาชิกภายในองค์การเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งต้องการข้อมูลจากภายนอกองค์การ เช่น การสำรวจเงินเดือน อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น

การจัดการทรัพยากรบุคคลเป็นงานสำคัญที่มิใช่เพียงแต่การปฏิบัติงานประจำวันที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลบุคลากรและค่าจ้างแรงงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นการดำเนินงานเชิงรุก (proactive) การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานช่วยให้งานทรัพยากรบุคคลมีประสิทธิภาพขึ้น โดยที่การพัฒนาระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคลต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้

1. ความสามารถ (capability) หมายถึงความพร้อมขององค์การและบุคคลในการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยต้องพิจารณาความสามารถของบุคลากร 3 กลุ่มคือ

ผู้บริหารระดับสูงต้องพร้อมที่จะสนับสนุนด้านนโยบาย กำลังคน กำลังเงิน และวัสดุอุปกรณ์ในการพัฒนาระบบสารสนเทศขององค์การ

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ เพื่อให้การทำงานในหน่วยงานมีความคล่องตัวขึ้น

ฝ่ายสารสนเทศที่ต้องทำความเข้าใจและออกแบบระบบงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ในแต่ละกลุ่ม

2. การควบคุม (control) การพัฒนา HRIS จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสารสนเทศโดยเฉพาะการเข้าถึงและความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลด้านทรัยพากรบุคคลจะเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งจะมีผลต่อชื่อเสียงและผลได้-ผลเสียของบุคคล จึงต้องมีการจัดระบบการเข้าถึงและจัดการข้อมูลที่รัดกุม โดยอนุญาตให้ผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในแต่ละหน่วยงานสามารถเข้าถึงและปรับปรุงสารสนเทศในส่วนงานของตนเท่านั้น

3. ต้นทุน (cost) ปกติการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลจะมีต้นทุนที่สูง ขณะเดียวกันก็จะไม่เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงขององค์การทั้งในด้านการขยายตัวและหดตัวซึ่งจะมีผลกระทบต่อบุคลากร ดังนั้นฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคลสมควรมีข้อมูลที่เหมาะสมในการตัดสินใจ เป็นต้น ขณะเดียวกัน การลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งฝ่ายบริหารสมควรต้องพิจารณาผลตอบแทนที่ได้รับจากการพัฒนาระบบว่าคุ้มค่ากับต้นทุนที่ใช้ไปหรือไม่

4. การติดต่อสื่อสาร (communication) หมายถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศต้องศึกษาการไหลเวียนของสารสนเทศ (inforamtion flow) ภายในองค์การและความสัมพันธ์ระหว่างองค์การกับสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนเตรียมการในการสื่อสารข้อมูล เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ เกิดความเข้าใจและทัศนคติที่ดีกับการนำระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้

5. ความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) ปัจจุบันการพัฒนา HRIS ไม่เพียงแต่ช่วยให้การดำเนินงานขององค์การมีประสิทธิภาพขึ้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างศักยภาพและความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจ

ปัจจุบันเราต่างยอมรับว่า คนเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ แต่ทรัพยากรบุคคลเป็นทรัพยากรมีค่าใช้จ่ายสูงที่ธุรกิจต้องรับภาระทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เงินเดือน สวัสดิการ และข้อมูลผูกพันในสัญญาจ้างงาน HRIS เป็นระบบสารสนเทศที่นำเสนอข้อมูลการตัดสินใจซึ่งเกิดประโยชน์แก่องค์การและสมาชิกแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับงานด้านทรัพยากรบุคคลอย่างถูกต้องขึ้น

การวางแผนความต้องการวัสดุ

การบริหารทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะวัตถุดิบ (raw materials) เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการด้านการดำเนินงานการผลิต ถ้าธุรกิจมีปริมาณวัตถุดิบมากเกินไปจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูง แต่ถ้ามีปริมาณวัตถุดิบน้อยเกินไปก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อแผนและกระบวนการผลิต ตลอดจนก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ การวางแผนความต้องการวัสดุ (material requirement planning) หรือที่เรียกว่า MRP เป็นระบบสารสนเทศที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบการผลิต เพื่อประกอบการวางแผนความต้องการวัสดุเพื่อให้ธุรกิจสามารถจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ โดย MRP ให้ความสำคัญกับสิ่งต่อไปนี้

1. ไม่เก็บวัตถุดิบเพื่อรอการใช้งานไว้นานเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและความเสี่ยงในการสูญหายหรือสูญเสีย

2. รายงานผลการผลิตและความเสียหายที่เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนด

3. ควบคุมสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบ

4. มีการตรวจสอบ แก้ไข และติดตามผลข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น

โดยที่ MRP มีบทบาทต่อระบบการผลิตขององค์การตั้งแต่การจัดหาวัสดุ เพื่อทำการผลิตโดยการกำหนดปริมาณและระยะเวลาในการสั่งที่ประหยัดค่าใช้จ่าย ตลอดจนจัดเตรียมรายละเอียดของการผลิตในอนาคตซึ่งเราสามารถสรุปว่า MRP มีข้อดีดังต่อไปนี้

1. ลดการขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิต

2. ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง

3. ช่วยให้บุคลากรมีเวลาในการปฏิบัติงานอื่นมากขึ้น

4. ประหยัดแรงงาน เวลา และค่าใช้จ่ายในการติดตามวัตถุดิบ

5. ช่วยให้องค์การสามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นอกจากระบบ MRP แล้ว ได้มีผู้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการดำเนินงาน เช่น การจัดการคุณภาพโดยรวม (total quality management) หรือที่เรียกว่า TQM และการผลิตแบบทันเวลาพอดี (just-in-time production) หรือที่เรียกว่า JIT เพื่อให้ได้การผลิตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น ซึ่งต่างต้องอาศัยระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ เกี่ยวข้องกับผู้ขายวัตถุดิบ (supplier) และลูกค้าภายนอกองค์การ ตลอดจนบุคลากรต้องมีความรู้และความสามารถในการใช้งานระบบสารสนเทศด้านการผลิตขององค์การอย่างเต็มที่

production and operations information system

ระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน (production and operations information system)

การผลิต (production) เป็นกระบวนการแปรรูปทรัพยากรการผลิต เช่น วัตถุดิบ แรงงาน และ พลังงาน ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมในการจัดจำหน่ายแก่ลูกค้า โดยผู้ผลิตต้องพยากรณ์ปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า โดยไม่ให้มีจำนวนมากหรือน้อยจนเกินไป ตลอดจนควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ปัจจุบันการขยายตัวของธุรกิจจากการผลิตเข้าสู่สังคมบริการ ทำให้มีการประยุกต์หลักการของการจัดการผลิตกับงานด้านบริการ ซึ่งเราจะเรียกการผลิตในหน่วยบริการว่า “ การดำเนินงาน (operations)” โดยที่แหล่งข้อมูลในการผลิตและการดำเนินงานขององค์การมีดังต่อไปนี้

1. ข้อมูลการผลิต/การดำเนินงาน (production/operations data) เป็นข้อมูลจากกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ ซึ่งจะแสดงภาพปัจจุบันของระบบการผลิตของธุรกิจว่ามีประสทธิภาพมากน้อยเพียงใด และมีปัญหาอย่างไรในการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนในการแก้ปัญหาและการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานในอนาคต

2. ข้อมูลสินค้าคงคลัง (inventory data) บันทึกปริมาณวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่เก็บไว้ในโกดัง โดยผู้จัดการต้องพยายามจัดให้มีสินค้าคงคลังในปริมาณไม่เกินความจำเป็นหรือขาดแคลนเมื่อเกิดความต้องการขึ้น

3. ข้อมูลจากผู้ขายวัตถุดิบ (supplier data) เป็นข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ คุณสมบัติ และราคาวัตถุดิบ ตลอดจนช่วงทางและต้นทุนในการลำเลียงวัตถุดิบ ปัจจุบันการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (electronic data interchange) หรือที่เรียกว่า EDI ช่วยให้การประสานงานระหว่างผู้ขายวัตถุดิบ ธุรกิจ และลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. ข้อมูลแรงงานและบุคลากร (labor force and personnel data) ข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานในสายการผลิตและปฏิบัติการ เช่น อายุ การศึกษา และประสบการณ์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดบุคลากรให้สอดคล้องกับงาน ขณะที่ข้อมูลภายนอกเกี่ยวกับตลาดแรงงานจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนและจัดหาแรงงานทดแทน และการกำหนดอัตราค่าจ้างอย่างเหมาะสม

5. กลยุทธ์องค์การ (corporate strategy) แผนกลยุทธ์ขององค์การจะเป็นแม่บทและแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์การผลิตแลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ

การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานขององค์การ นอกจากจะส่งผลต่อการพัฒนาผลิตผล (productivity) ของธุรกิจ โดยเฉพาะการปฏิบัติ ตั้งแต่การตัดสินใจเกี่ยวกับการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การควบคุมสินค้าคงคลัง การวางแผนคุณภาพ การเพิ่มผลผลิต และการควบคุมต้นทุนขององค์การให้มีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้ระบบอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตแล้ว ยังส่งผลต่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงานและการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมโดยทางตรงและทางอ้อม

สารสนเทศด้านการตลาดอาจจะมีความแตกต่างกันตามประเภทของธุรกิจ

สารสนเทศด้านการตลาดอาจจะมีความแตกต่างกันตามประเภทของธุรกิจ ซึ่งเราสามารถจำแนกระบบย่อยของระบบสารสนเทศด้านการตลาดได้ดังต่อไปนี้

1. ระบบสารสนเทศสำหรับการขาย สามารถแบ่งออกเป็นระบบย่อย 3 ระบบดังต่อไปนี้

ระบบสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการขาย จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายขาย เพื่อให้การขายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลที่ระบบต้องการจะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะทำการขาย รูปแบบ ราคา และการโฆษณาต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า นอกจากนี้อาจเกี่ยวกับช่องทางและวิธีการขายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า ตลอดจนคู่แข่งของผลิตภัณฑ์ที่จะขายและจำหน่ายสินค้าคงคลังของบริษัท

ระบบสารสนเทศสำหรับวิเคราะห์การขาย จะรวบรวมสารสนเทศในเรื่องของกำไรหรือขาดทุนของผลิตภัณฑ์ ความสามารถของพนักงานขายสินค้า ยอดขายของแต่ละเขตการขาย รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของสินค้า ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จากรายงานต่าง ๆ เช่น รายงานการขาย รายงานของต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบ เป็นต้น

ระบบสารสนเทศสำหรับการวิเคราะห์ลูกค้า จะช่วยในการวิเคราะห์ลูกค้าเพื่อให้ทราบถึงรูปแบบของการซื้อและประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ เพื่อที่ธุรกิจจะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
2. ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยตลาด สามารถแบ่งออกเป็นระบบย่อยตามหน้าที่ได้ 2 ระบบ ดังต่อไปนี้

ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยลูกค้า การวิจัยลูกค้าจะต่างกับการวิเคราะห์ลูกค้าตรงที่ว่าการวิจัยลูกค้าจะมีขอบเขตของการใช้สารสนเทศกว้างกว่าการวิเคราะห์ลูกค้า โดยการวิจัยลูกค้าจะต้องการทราบสารสนเทศที่เกี่ยวกับลูกค้าในด้านสถานะทางการเงิน การดำเนินธุรกิจ ความพอใจ รสนิยมและพฤติกรรมการบริโภค

ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยตลาด การวิจัยตลาดจะให้ความสำคัญกับการหาขนาดของตลาดของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่จะนำออกจำหน่าย ซึ่งอาจครอบคลุมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลังจากนั้นก็จะกำหนดส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์เพื่อทำการวางแผน กำหนดเป้าหมาย กำหนดกลยุทธ์และวางแผนกลยุทธ์ สารสนเทศที่เป็นที่ต้องการของการวิจัยตลาดคือสภาวะและแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ยอดขายในอดีตของอุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในตลาด รวมทั้งสภาวะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์นี้ด้วย
3. ระบบสารสนเทศสำหรับการส่งเสริมการขาย เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับแผนงานทางด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขาย เพิ่มยอดขายสินค้า และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สูงขึ้น สารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือยอดขายของสินค้าทุกชนิดในบริษัท เพื่อให้รู้ว่าสินค้าใดต้องการแผนการส่งเสริมการขาย และสารสนเทศที่เกี่ยวกับผลกำไรหรือขาดทุนของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อให้ความสำคัญกับสินค้าตัวที่ทำกำไร

4. ระบบสารสนเทศสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เป็นระบบสารสนเทศที่วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ลักษณะและความต้องการของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าแต่ยังไม่มีตลาด โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการของระบบได้แก่ ยอดขายของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในอดีต เพื่อให้ทราบถึงขนาดและลักษณะของตลาด และการประมาณการต้นทุน เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าสมควรที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่

5. ระบบสารสนเทศสำหรับพยากรณ์การขาย เป็นระบบที่ใช้ในการวางแผนการขาย แผนการทำกำไรจากสินค้าหรือบริการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของบริษัท ซึ่งจะส่งผลไปถึงการวางแผนการผลิต การวางกำลังคน และงบประมาณที่จะใช้เกี่ยวกับการขาย โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือ ยอดขายในอดีต สถานะของคู่แข่งขัน สภาวการณ์ของตลาด และแผนการโฆษณา

6. ระบบสารสนเทศสำหรับการวางแผนกำไร เป็นระบบสารสนเทศที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนทำกำไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของธุรกิจ โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือสารสนเทศจากการวิจัยตลาด ยอดขายในอดีต สารสนเทศของคู่แข่งขัน การพยากรณ์การขาย และการโฆษณา

7. ระบบสารสนเทศสำหรับการกำหนดราคา การกำหนดราคาของสินค้านับว่าเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งทางการตลาด เพราะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า คู่แข่งขัน กำลังซื้อของลูกค้า โดยปกติแล้วราคาสินค้าจะตั้งจากราคาต้นทุนรวมกับร้อยละของกำไรที่ต้องการ โดยสารสนเทศที่ต้องการได้แก่ ตัวเลขกำไรของผลิตภัณฑ์ในอดีต เพื่อทำการปรับปรุงราคาให้ได้สัดส่วนของกำไรคงเดิม ในกรณีที่ต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลง

8. ระบบสารสนเทศสำหรับการควบคุมค่าใช้จ่าย บุคคลที่เป็นผู้ควบคุมค่าใช้จ่ายสามารถควบคุมได้โดยดูจากรายงานของผลการทำกำไรกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงหรือสาเหตุของการคลาดเคลื่อนของค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขายรวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ค่าโฆษณา ค่าส่วนแบ่งการขาย เป็นต้น

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการขยายโอกาสและเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้า ซึ่งทำให้นักการตลาดสมัยใหม่ต้องสามารถประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อก่อให้เกิดโอกาสและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันแก่องค์การ ซึ่งจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพของตน

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return from investing)

การลงทุนมีความสัมพันธ์กับด้านผลตอบแทน (Returns) และความเสี่ยง (Risks) การที่คนเราลงทุนก็เพราะเราคาดหวังจะได้รับผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ แต่บางครั้งไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย จึงต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย ผลตอบแทนจากการลงทุน มีหลายรูปแบบได้แก่

ก. รายได้ตามปกติ (Current income) รายได้ตามปกติได้แก่ ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลในกรณีที่บุคคลซื้อพันธบัตรหรือลงทุนในหุ้นต่าง ๆ ซึ่งกำหนดเวลาก็จะได้รับดอกเบี้ยหรือเงินปันผลตามที่บริษัทระบุไว้

ข. กำไรจากการซื้อขายหุ้น (Capital gains) ในกรณีของหุ้นสามัญที่บุคคลลงทุนซื้อไว้มีราคาสูงขึ้น ซึ่งเมื่อขายออกไปแล้วจะได้กำไร

ค. ค่าเช่า (Rent) ในการลงทุนซื้อทรัพย์สินโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกอสังหาริมทรัพย์ เช่นที่ดิน บ้าน อพาร์ตเมนท์ ที่อยู่อาศัย เมื่อนำไปให้ผู้อื่นเช่าก็จะมีรายได้ ค่าเช่าเป็นรายได้ที่คืนมาสู่เจ้าของ

ง. ผลตอบแทนอื่น ๆ (Others) เช่นการซื้อหุ้นสามัญก็จะมีสิทธิในหารออกกเสียงเลือกคณะกรรมการของบริษัท และถ้าถือหุ้นไว้มากก็จะมีโอกาสจะได้รับเลือกเป็นผู้บริหารซึ่งสามารถกำหนดนโยบายของบริษัทได้ หรือสิทธิในการซื้อขายหุ้นใหม่ได้ในราคาพิเศษ เป็นต้น

ในการคำนึงถึงผลตอบแทน ผู้ลงทุนควรถามตัวเอง ผลตอบแทนที่ตนต้องการได้รับ สักกี่เปอร์เซ็นต์ โดยจะต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อไว้ด้วย เพราะเงินเฟ้อย่อมมีผลกระทบต่อผลตอบแทนในการลงทุน ดังนั้นในการพูดถึงเรื่องผลตอบแทนผู้ลงทุนควรให้ความสนใจในกับ Real rate of return มากกว่า Nominal rate of returnReal rate of return คือ ผลตอบแทนแท้จริงทีจะได้รับ โดยได้คำนึงถึงเรื่องเงินเฟ้อส่วน Nominal rate of return เป็นผลตอบแทนที่เสนอให้หรือให้ตามที่บริษัทประกาศไว้ สมมติว่า การลงทุนครั้งนี้เสนอให้ผลตอบแทน (Nominal rate of return) 10 %ถ้ามีการคาดคะเนว่าอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นปีละ 6 % ดังนั้นผลตอบแทนแท้จริงที่ได้รับ จะเป็นแค่ 4 % เท่านั้น

นอกจากนี้ในการลงทุน ผู้ลงทุนต้องคำนึงถึงในเรื่อง ดอกเบี้ยของดอกเบี้ย (Interest on interest) ที่จะได้รับด้วย โดยคำนึงถึงดอกเบี้ยทบต้น ในการลงทุนการซื้อพันธบัตร ซึ่งให้ดอกเบี้ยประจำทุก ๆ งวด และจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด ถ้าผู้ลงทุนนำดอกเบี้ยได้รับไปใช้จ่าย ผลตอบแทนทีจะได้รับก็จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในพันธบัตรนั้น แต่ถ้าผู้ลงทุนนำดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละงวดไปลงทุนต่อ ดอกเบี้ยดังกล่าวจะกลายเป็นเงินต้นของงวดถัดไปตามหลักของดอกเบี้ยทบต้นก่อให้เกิดดอกผลตามมา ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดเวลาก็จะได้รับเงินต้นคืนพร้อมผลตอบแทนได้อีกมากซึ่งสรุปแล้วก็คือ อัตราผลตอบแทนได้รับจริงจะสูงกว่าที่ได้ประกาศไว้ เพียงแต่มีข้อแม้ว่าเราจะต้องนำดอกผลที่ได้รับไปลงทุนใหม่ (Reinvest) อย่างส่ำเสมอเท่านั้น

Financial investments

หมายถึง การที่ผู้ลงทุนนำเงินที่มีอยู่ไปซื้อหลักทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งหลักทรัพย์ดังกล่าวก่อให้เกิดรายได้กับผู้ลงทุนนั้น ซึ่งการลงทุนทางการเงินโดยทั่วไปมักจะทำผ่านกลไกของตลาดการเงิน

วัตถุประสงค์ของการลงทุนทางการเงิน เพื่อจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบของดอกเบี้ย (Interest) เงินปันผล Dividend) กำ ไรจากการซื้อขายหุ้น (Capital gain) และสิทธิพิเศษอื่น ๆ กล่าวโดยสรุปก็คือ มุ่งผลตอบแทนจากการใช้ทุนในรูปแบบของผลตอบแทนทางการเงิน (Monetary return) นั่นเอง

เงินเพื่อการลงทุนได้มาจากไหน (Money For investing)

เงินสำหรับนำมาลงทุนได้มาจากแหล่งใด หรือมีทางที่จะได้มาอย่างไรถ้าบุคคลได้มีการวางแผนจัดการเรื่องการเงินของตนอย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็จะมีทางให้ได้เงินก้อนหนึ่งเพื่อการลงทุนได้เสมอ บุคคลมีโอกาสได้เงินมาจาก

1.การรู้จักทำงบประมาณ (Using budgets) เราสามารถควบคุมการใช้จ่ายให้อยู่ในขอบเขตของเงินงบประมาณที่กำหนด ก็จะทำให้มีเงินออมเหลืออยู่จริงตามที่คาดคะเนไว้ ซึ่งเงินออมส่วนนี้สามารถนำไปลงทุนหาผลประโยชน์ได้

2.การออมโดยวิธีบังคับ (Forced saving) ตามหลักของการจ่ายเงินเดือนซึ่งธุรกิจได้มีการหักเงินสะสม หรือเงินสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานไว้ เงินออมส่วนนี้เป็นของลูกจ้างพนักงาน แต่ยังถอนไม่ได้จนกว่าจะทำตามเงื่อนไขที่กำหนด ธุรกิจจะนำเงินสดดังกล่าวไปให้สถาบันการเงินหรือบุคคลที่สามเป็นผู้ดูแลหาผลประโยชน์ให้งอกเงยตามที่กฎหมายกำหนด และจะจ่ายคืนแก่เจ้าของผู้มีสิทธิได้รับเมื่อถึงเวลา เงินออมโดยโดยวิธีบังคับจึงเป็นเงินลงทุนทางหนึ่งของบุคคลเพียงแต่เขาไม่ได้เป็นผู้ลงทุนเองโดยตรงแต่สถาบันนายจ้างเป็นผู้ลงทุนแทนให้

3.การยกเว้นรายจ่ายไม่จำเป็นเสียบ้าง (Skip an expenditure) เป็นธรรมชาติของบุคคลที่มีเงินแล้วจะใช้จ่ายไปตามวิสัยปกติที่เคยเป็นมา เช่นทุกวันอาทิตย์ต้องออกไปทานข้าวนอกบ้าน ดูภาพยนตร์ เล่นโบว์ลิ่ง เล่นกอล์ฟ หรือซื้อของตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ดังนั้นถ้าจะมีการยกเลิกบ้างก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จะมีเงินเหลือนำมาลงทุนได้

4.การประหยัดรายได้พิเศษ (Save the nonroutine incomes) บางครั้งคนเราก็มักจะได้รับรายพิเศษเข้ามาบ้าง เช่น การไปทำงานพิเศษมีรายได้หรือขายของเก่า ที่ไม่ใช้แล้ว หรือญาติผู้ใหญ่ได้ให้เงินเป็นของขวัญรางวัล ซึ่งเงินเหล่านี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบใช้จ่ายแต่ประการใด ดังนั้นถ้าสามารถเก็บออมไว้ก็จะนำไปหาผลประโยชน์ได้มาก

การลงทุนทางการเงิน

การลงทุนทางการเงิน หมายถึง การนำเงินที่เรามีอยู่จากการเก็บออมมาลงทุนให้ได้ผลตอบแทน ที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งในที่สุด ก่อนที่จะลงทุนทางการเงิน ผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับตราสารทางการเงิน ดังนี้
1. ตราสารทุน หมายถึง ตราสารที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือ เพี่อแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของในกิจการนั้น ได้แก่ หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์
2. ตราสารหนี้ หมายถึง ตราสารทางการเงินที่แสดงความเป็นหนี้ ซึ่งเป็นภาระผูกพันทางกฎหมายระหว่าง เจ้าหนี้กับลูกหนี้ โดยผู้ออกตราสารหนี้จะอยู่ในฐานะที่เป็นลูกหนี้ ในขณะที่ผู้ซื้อตราสารหนี้จะอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) ตราสารหนี้ภาครัฐ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ
2) ตราสารหนี้ภาคเอกชน ไก้แก่ หุ้นกู้
โดยผู้ลงทุนจะต้องอาศัยเครื่องมือในการลงทุน ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเครื่องมือในการลงทุน
2 กลุ่ม ดังนี้
เครื่องมือกลุ่มแรก มีความเสี่ยงต่ำ และผลตอบแทนก็ต่ำไปด้วย ได้แก่
1. ฝากธนาคาร ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะต่ำลงไปด้วย
2. พันธบัตรรัฐบาล มีความปลอดภัยสูง แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะต่ำตามไปด้วย
3. ประกันชีวิต ดูเหมือนจะได้รับผลตอบแทนมาก จริง ๆแล้วมากกว่าเงินฝากธนาคาร
ไม่มากนัก
เครื่องมือกลุ่มที่สอง มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มแรก แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะมากตามไปด้วย ดังนี้
1. หุ้นสามัญ จะให้ผลตอบแทน 2 ทาง คือ จากเงินปันผลและจากกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์
2. หุ้นกู้ จะให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย
3. ทองคำ ราคาทองคำปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนหลายคนคิดว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนกว่าหุ้น แต่จริงๆ แล้วพบว่าทองคำยังให้ผลตอบแทนน้อยกว่าหุ้นอยู่พอสมควร จุดเด่นของทองคำคือจับต้องได้ แต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4. กองทุนรวม ผลตอบแทนเป็นเงินปันผล ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารกองทุน

การประยุกต์ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหาร

การบริหารงานในรูปแบบของธรรมาภิบาลนั้น จะเน้นที่การเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มั่นคง ไม่ล้มละลาย ไม่เสี่ยงต่อความเสียหาย พนักงานมีความมั่นใจในองค์การว่าสามารถปฏิบัติงานในองค์การได้ในระยะยาว การนำธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารนั้น เพื่อให้องค์การมีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากสังคม

ปัจจุบันการบริหารงานในภาครัฐได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ในเรื่องของความโปร่งใสในการดำเนินงาน ดังนั้นการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในหน่วยงานของรัฐ ก็เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือศรัทธาว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทุจริต คอรัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐจะลดลง ซึ่งสิ่งที่จำเป็นในการบริหารงานของหน่วยงานในภาครัฐ ได้แก่

1. ภาระรับผิดชอบตรวจสอบได้
2. ความโปร่งใส
3. การปราบปรามการทุจริตและการประพฤติมิชอบ
4. การสร้างการมีส่วนร่วม
5. การสร้างกรอบทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
6. การตอบสนองที่ทันการ
7. ความเห็นชอบร่วมกัน
8. ประสิทธิภาพและประสิทธิผล
9. ความเสมอภาคและความเกี่ยวข้อง

1. ความรับผิดชอบตรวจสอบได้
ความรับผิดชอบ คือ บุคคล องค์การ และผู้ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ ซึ่งหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานภาครัฐ ต้องมีภาระความรับผิดชอบต่อสาธารณะเกี่ยวกับการกระทำ กิจกรรม หรือการตัดสินใจใด ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสาธารณะ ความรับผิดชอบที่กล่าวมา หมายถึง การเปิดเผยข้อมูล การมีความยุติธรรม ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเสมอภาค และตรวจสอบได้ โปร่งใส และดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย

2. ความโปร่งใส
ความโปร่งใส หมายถึง การตัดสินใจและการดำเนินการต่าง ๆ อยู่บนกฎระเบียบชัดเจน การดำเนินงานของรัฐบาลในด้านนโยบายต่าง ๆ นั้น สาธารณะชนสามารถรับทราบ และมีความมั่นใจได้ว่า การดำเนินงานของรัฐนั้นมาจากความตั้งใจในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของนโยบาย

3. การปราบปราบทุจริตและการประพฤติมิชอบ
การที่องค์การภาครัฐใช้อำนาจหน้าที่ หรือการแสวงหาผลประโยชน์ในทางส่วนตัว เหล่านี้ถือเป็นการทุจริต และการประพฤติมิชอบทั้งต่อองค์การภาครัฐเองและองค์การในภาคเอกชน การปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานและการทำให้เกิดความโปร่งใส รวมไปถึงการปฏิรูประบบราชการจะเป็นเครื่องมือในการปราบปรามการฉ้อฉล และเสริมสร้างธรรมาภิบาล

4. การสร้างการมีส่วนร่วม
การมีส่วนร่วมเป็นการเปิดโอกาสให้กับประชาชน หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจดำเนินนโยบาย มีส่วนร่วมในการควบคุมการปฏิบัติงานของสถาบัน การมีส่วนร่วมจะก่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบ และเรียกร้องในกรณีที่เกิดความสงสัยในกระบวนการทำดำเนินงานของรัฐได้เป็นอย่างดี

5. การมีกฎหมายที่เข้มแข็ง
ธรรมาภิบาลมีพื้นฐานการดำเนินการอยู่บนกรอบของกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ มีการให้ความเสมอภาคเท่าเทียม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีกฎหมายที่เข้มแข็ง มีการระบุการลงโทษที่ชัดเจน และมีผลบังคับใช้ได้จะเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาระบบการปกครอง เพื่อป้องกันการละเมิดหรือฝ่าฝืน การมีระบบกฎหมายที่ดีจะส่งเสริมการปกครองตามหลักนิติธรรม

6. การตอบสนองที่ทันการ
ธรรมาภิบาล หมายถึง การให้การตอบสนองที่ทันการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในเวลาที่ทันการ

7. ความเห็นชอบร่วมกัน
สังคมที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป ธรรมาภิบาลจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานความต้องการที่แตกต่าง ให้อยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมและขององค์การเป็นหลัก

8. ประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในหลักธรรมาภิบาลนั้น ต้องการให้มีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า

9. ความเสมอภาคและความเกี่ยวข้อง
หลักธรรมาภิบาลจะเน้นให้บุคลากรทุกคนในองค์การ รู้สึกมีส่วนร่วมหรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์การ บุคคลสามารถมีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมหลักที่จะช่วยสร้างความเติบโตให้กับหน่วยงาน

ธรรมาภิบาล

การส่งเสริมให้เกิดการสร้างธรรมาภิบาลนั้น มาจากความร่วมมือของทั้งสถาบันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม

บทบาทของรัฐที่สำคัญนั้น คือ รัฐเป็นผู้มีบทบาทในการวางรากฐาน และรักษากฎระเบียบต่าง ๆ การสร้างธรรมาภิบาลของรัฐนั้นจำเป็นต้องอาศัยระบบการจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ มีภาระรับผิดชอบภายใต้กฎหมาย และนโยบายที่โปร่งใสตรวจสอบได้

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องมีการปฏิรูประบบราชการ เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และรับผิดชอบภายใต้กรอบของกฎหมาย

ซึ่งจุดมุ่งหมายในการสร้างธรรมาภิบาลของภาครัฐนั้น จะต้องพยายามปฏิรูปการบริหารจัดการให้ถูกต้องตามหลักเหตุผล และหน้าที่ มีระบบความรับผิดชอบด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพมาใช้ และให้มีความโปร่งในการปฏิบัติงาน ยกระดับความชำนาญของภาครัฐให้มีความทันสมัย เป็นต้น

ส่วนบทบาทขององค์การภาคเอกชนและบทบาทของประชาสังคม ที่มีต่อการสร้างธรรมาภิบาล คือ การรวมตัวกันของสาธารณชนในการต่อต้านการทุจริตและการประพฤติมิชอบ โดยรัฐควรมีการหามาตรการที่จะกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงการทำผิดจรรยาบรรณ เป็นต้น

หลักการพื้นฐานของการสร้างธรรมาภิบาล

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ.2542 ระบุว่าธรรมาภิบาลมีองค์ประกอบ 6 ประกอบ คือ

1. หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฏหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เลือกปฏิบัติ และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมายและกฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมาย มิใช่ตามอำเภอใจ หรือตามอำนาจของตัวบุคคล

2. หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกัน โดยมีการให้และการรับข้อมูลที่สะดวกเป็นจริง ทันการณ์ ตรงไปตรงมา มีที่มาที่ไปที่ชัดเจนและเท่าเทียม มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้

3. หลักการมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และร่วมคิด ร่วมเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการร่วมตรวจสอบ และร่วมรับผิดชอบต่อผลของการกระทำนั้น

4. หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ ได้แก่ ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้เป็นการสร้างกลไกให้มีผู้รับผิดชอบ ตระหนักในหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตน

5. หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม

6. หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม สำนึกในหน้าที่ของตนเอง มีความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย และเคารพในสิทธิของผู้อื่น

Strategy Implementation

การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ คือกระบวนการที่ผู้บริหารแปลงกลยุทธ์และนโยบาย ไปสู่แผนการดำเนินงาน กำหนดรายละเอียดด้านต่าง ๆ เช่น ด้านงบประมาณ หรือวิธีการดำเนินงาน ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในด้านวัฒนธรรม โครงสร้าง หรือระบบการบริหาร เพื่อให้สามารถดำเนินการตามกลยุทธ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยทั่วไปจะประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ

1. ขั้นตอนของการกำหนดแผนและการจัดสรรทรัพยากร (Resources Allocation)

2. ขั้นตอนของการปรับโครงสร้างองค์การ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการใช้กลยุทธ์และการใช้ทรัพยากร เป็นต้น

3. ขั้นตอนของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในส่วนของระบบและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เช่น เรื่องระบบข้อมูลข่าวสาร ระบบบริหารบุคคล (การให้การศึกษา การให้การอบรม การกระตุ้น ส่งเสริมให้บุคลากรในองค์การทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ) เป็นต้น

4. การกระจายกลยุทธ์ (Strategic Deployment) หากองค์การมีการสร้างวิสัยทัศน์ สร้างพันธกิจขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ได้มีการดำเนินการก็จะทำให้เกิดการสูญเปล่า (Waste) ได้ เพราะแม้ว่าแผนเหล่านั้นจะเป็นแผนงานที่ถูกจัดทำมาอย่างดี ผ่านการระดมความคิดมาอย่างเข้มข้นเพียงใดก็ตาม หากไม่ลงมือปฏิบัติก็ย่อมไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้น

ดังนั้นเพื่อทำให้เกิดผลจึงจำเป็นต้องมีการกระจายแผนไปยังทุก ๆ ส่วนทั่วทั้งองค์การ โดยต้องสอดประสานกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างชัดเจน และเข้าใจได้ ซึ่งจากเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ (Strategic goals) อาจถูกแปลงเป็นเป้าหมายย่อย (Sub-goals) กำหนดเป็นเป้าหมายประจำปี (Annual goals) จากนั้นจะแตกไปเป็นเป้าหมายของแต่ละกลุ่ม แต่ละโครงการ

เพื่อให้ทราบว่า เป้าหมายของตนเองที่ชัดเจนนั้นคืออะไร และควรจะดำเนินการที่เรื่องใดก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานในระดับล่างสุดเข้าใจเป้าหมายที่ไม่คลาดเคลื่อนแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อกระบวนการในการวัดผลที่เหมาะสมด้วย ทั้งยังช่วยให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมพอดี เพียงเพื่อให้บรรลุผลในแต่ละกลุ่มหรือแต่ละโครงการ นั่นเอง

ความสำเร็จขององค์การนั้นเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการนำกลยุทธ์ไปประยุกต์ปฏิบัติ ทั้งนี้ผู้บริหารควรมีการมอบหมาย และกำหนดแนวทางหรือวิธีการในการปฏิบัติงาน สิ่งที่สำคัญในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการปฏิบัติงานอย่างถ่องแท้

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สภาพคล่องระหว่างประเทศ


1. ทุนสำรองระหว่างประเทศมีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ
- ทองคำ
- เงินตราสกุลหลัก
- สิทธิถอนเงินพิเศษ
2. การที่ประเทศต่าง ๆ นิยมใช้เงินตราต่างประเทศบางสกุล เช่น เงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา ปอนด์สเตอร์ลิง มาร์ก เยน เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพราะ สามารถนำไปฝากที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศและได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ทุนสำรองมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจมีปัญหา ถ้าเงินตราที่เก็บสำรองไว้นั้นมีค่าลดลง การแก้ปัญหาความเสี่ยงในด้านนี้จึงพยายามเก็บเงินตราต่างประเทศหลาย ๆ สกุล

การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
1. ตลาดเงินตราต่างประเทศ เป็นแหล่งอำนวยความสะดวกให้เกิดการซื้อหรือขายเงินตราสกุลต่างๆ หลายสกุลซึ่งในตลาดนี้ประกอบด้วยผู้ซื้อและผู้ขายที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราสกุลหนึ่งไปยังอีกสกุลหนึ่ง
2. ตลาดเงินตราต่างประเทศทำหน้าที่หลายด้านด้วยกันคือ หน้าที่ในการโอนอำนาจซื้อ การให้สินเชื่อและช่วยลดความเสี่ยง
3. ตลาดเงินตราต่างประเทศที่เป็นแหล่งเงินกู้ที่สำคัญที่สุดในโลก คือ ตลาดยูโรดอลล่าร์ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่หลายแห่ง เช่น ลอนดอน ปารีส แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ส่วนตลาดเงินตราต่างประเทศที่สำคัญในทวีกเอเชียได้แก่ ตลาดเอเชียนดอลล่าร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่สิงค์โปร์ ญี่ปุ่นและฮ่องกง
4. การเปลี่ยนแปลงค่าของเงินมี 3 กรณีคือ การเพิ่มค่าเงิน การลดค่าเงินและการลอยค่าเงิน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าออกและสินค้าเข้ารวมทั้งมีผลต่อดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ

ปัญหาดุลการชำระเงินและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ


1. สาเหตุของการขาดดุลยภาพของดุลการชำระเงินในระยะยาวมีดังนี้คือ
- การสูญเสียทุน
- แบบแผนของสินค้าที่ทำการผลิต
- แบบแผนของอุปสงค์
- อัตราการค้า
- แบบแผนของการค้า
- การเปลี่ยนแปลงในการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะยาว
2. จะมีผลต่อดุลการชำระเงิน เพราะถ้าประชาชนในประเทศหันมานิยมใช้สินค้าที่ผลิตได้ในประเทศไทย และซื้อสินค้าจากต่างประเทศน้อยลง ในกรณีนี้เงินจะไหลออกไปต่างประเทศน้อยลง และถ้าประเทศสามารถที่จะส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นแล้ว ในที่สุดประเทศไทยก็จะมีดุลการชำระเงินเกินดุลเพิ่มขึ้นก็เป็นได้

การแก้ไขปัญหาดุลการชะระเงินขาดดุล
1. การใช้นโยบายการคลังแก้ปัญหาการขาดดุลการชำระเงิน ทำได้โดยการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเอง ซึ่งจะมีผลทำให้ปริมาณเงินในท้องตลาดลดลง อุปสงค์รวมของประชาชนจะลดลงด้วย เมื่ออุปสงค์รวมลดลงเนื่องจากผู้บริโภคมีรายได้น้อยลง ประชาชนจะซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลง เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศน้อยลง ปัญหาดุลการชำระเงินขาดดุลก็จะผ่อนคลายลงไปได้
2. การใช้นโยบายทางด้านราคาแก้ปัญหาการขาดดุลการชำระเงิน ทำได้โดยการพยายามลดราคาสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลทำให้ประเทศส่งสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศได้มากขึ้น รายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาการขาดดุลการชำระเงินจะลดลง

การเงินระหว่างประเทศ


1. ความสัมพันธ์ทางการเงินระหว่างประเทศเกิดขึ้นเนื่องจากประเทศต่าง ๆ มีการติดต่อกันทางด้านการค้า การลงทุน การกู้ยืม และการช่วยเหลือกันทางการเงิน แต่ประเทศต่าง ๆ มีหน่วยของเงินตราต่างกัน จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งกันและกัน เมื่อประเทศใดมีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็จะมีผลกระทบต่อการค้า การลงทุน ตลอดจนการปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ของประเทศ
2. ปัญหาดุลการชำระเงินขาดดุลอาจเกิดได้ทั้งสาเหตุในระยะยาวและระยะสั้น ซึ่งในระยะยาวเกิดจากประสิทธิภาพการผลิต แบบแผนของสินค้าที่ทำการผลิต แบบแผนของอุปสงค์ อัตราการค้า แบบแผนของการค้า การเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะยาว ส่วนสาเหตุในระยะสั้นเกิดจาก ช่องว่างระหว่างเงินออมกับเงินลงทุน การเคลื่อนไหวของรายได้ตามวัฎจักรเศรษฐกิจ
3. การขาดดุลการชำระเงินจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ คือ ถ้าประเทศที่ขาดดุลการชำระเงินก็จะมีผลกระทบต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ภาวะเงินฝืด การว่างงาน เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ แต่ถ้าประเทศที่มีดุลการชำระเงินเกินดุลก็จะมีผลทำให้เกิด ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าขาดเสถียรภาพ
4. การแก้ไขปัญหาดุลการชำระเงินขาดดุล อาจทำได้โดยใช้นโยบายต่าง ๆ ได้แก่นโยบายควบคุมการขยายตัวของเศรษฐกิจ นโยบายด้านการผลิตและการส่งออก นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายการค้า ซึ่งการที่จะใช้นโยบายใดก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหา

ความสัมพันธ์ทางการเงินระหว่างประเทศ
1. ความสัมพันธ์ทางการเงินระหว่างประเทศเกิดขึ้นเนื่องจาก ประเทศต่าง ๆ ทำการค้าขายซึ่งกันและกัน มีการกู้ยืมและชำหนี้ระหว่างกัน ประเทศพัฒนาส่งเสริมให้เอกชนเข้าไปลงทุนและให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒฒนา
2. ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจการเงินระหว่างประเทศก็เพราะ เมื่อมีการค้าระหว่างประเทศทำให้ประเทศต้องแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งกันและกัน การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศย่อมมีผลกระทบต่อดุลการค้า ดุลการชำระเงิน ปริมาณสินค้าที่ผลิต การท่องเที่ยว และการลงทุน ตลอดจนผลกระทบต่อการปรับตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ

เงินและความสัมพันธ์ทางการเงินระหว่างประเทศ


1. การเงินระหว่างประเทศเกิดจากประเทศต่าง ๆ ทำการติดต่อค้าขาย การกู้ยืม การลงทุน และการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้เกิดการไหลเข้าและไหลออกของเงิน ที่ประเทศต่าง ๆ ได้บันทึกไว้อยู่ในรูปของดุลการค้าและดุลการชำระเงิน
2. ประเทศที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก่อให้เกิดการเสียเสถียรภาพในดุลการชำระเงิน ซึ่งจะต้องใช้นโยบายการเงิน การคลัง และนโยบายอื่น ๆ แก้ไขอย่างเร่งด่วน
3. เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ใช้เงินต่างสกุลกัน การซื้อขายสินค้า การชำระหนี้กันระหว่างประเทศจึงจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งกันและกัน แหล่งที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเงินเรียกว่า ตลาดเงินตราต่างประเทศ
4. เงินตราที่แลกเปลี่ยนกันในตลาดเงินตราต่างประเทศนั้น จะมีการกำหนดค่าเสมอภาคไว้ แต่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ การเปลี่ยนแปลงนั้นมี 3 กรณี คือ การเพิ่มค่าเงิน การลดค่าเงิน และการลอยค่าเงิน
5. ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศต่าง ๆ อยู่ในมาตรฐานทองคำ ปัญหาทางด้านการเงินระหว่างประเทศจึงมีน้อย ต่อมาภายหลังสงครามโลก ประเทศต่าง ๆ พากันออกจากมาตรฐานทองคำ และมีนโยบายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างกันไป อันมีผลทำให้ระบบการเงินระหว่างประเทศขาดเสถียรภาพ ประเทศต่าง ๆ จึงได้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศขึ้น
6. สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญและมีบทบาทมากในปัจจุบัน ได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ และสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ โดยสถาบันการเงินเหล่านี้จะมีบทบาทอย่างมากในด้านการให้กู้ยืมเพื่อบูรณะและพัฒนา บทบาททางด้านการควบคุมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และบทบาทในด้านการให้คำแนะนำและช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ทางด้านวิชาการ

การกำหนดกลยุทธ์ระดับนานาชาติ


กลยุทธ์ระดับนานาชาติ (international level strategy) จะเน้นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (competitive advantage) กับการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาล (government relation) ต่างประเทศ และรวมเอากลยุทธ์ระดับธุรกิจ ระดับดำเนินงาน และระดับบริษัทด้วย องค์การนั้นจึงจะสามารถทำธุรกิจนานาชาติได้ การสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันตามที่กล่าวมาแล้วคือ การผลิตและขายสินค้าหรือบริการที่แตกต่าง (differentiation) ความเป็นผู้นำทางด้านต้นทุน (cost leadership) และการตอบสนองได้รวดเร็ว (quick response) ส่วนการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลต่างประเทศนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในการแข่งขัน ซึ่งบริษัทอาจเลือกการใช้วิธีการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลต่างประเทศได้ 5 วิธีคือ
1. การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้ว (regulator) ของประเทศที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจ หมายความว่า บริษัทจะต้องศึกษากฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างประเทศที่รัฐบาลของประเทศนั้นกำหนดไว้แล้วเหมือนกับบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินงานอยู่
2. การเจรจาต่อรอง (co negotiated) กับรัฐบาลของประเทศที่จะเข้าไปขายสินค้าให้ออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับใหม่สำหรับใช้กับบริษัทนั้นให้แตกต่งไปจากบริษัทอื่นๆ ด้วยเหตุผลว่ากฎเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ขัดกับผลประโยชน์ที่ควรจะได้ จึงควรมีกฎเกณฑ์โดยเฉพาะสำหรับบริษัทจากประเทศนั้น
3. การเป็นผู้ขายสินค้าหรือวัตถุดิบ (supplier) วิธีนี้บริษัทที่เข้าไปทำธุรกิจในต่างประเทศมักจะเป็นบริษัทของรัฐบาล หรืออาจเป็นของเอกชนก็ได้ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหรือสินค้าที่สำคัญ ที่ต่างประเทศต้องใช้สินค้านั้น การเข้าไปดำเนินธุรกิจจึงเจรจากับรัฐบาลของประเทศนั้นขอเป็นผู้ขายให้กับรัฐบาลหรือบริษัทโดยตรง
4. การเป็นลูกค้า (customer) วิธีนี้ทำในฐานะตรงกันข้ามกับการเป็นผู้ขายกล่าวคือ รัฐบาลบางประเทศอาจเป็นผู้ขายที่สำคัญที่ขายสินค้าบางอย่างให้กับประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจนั้น บริษัทที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้นจึงเป็นลูกค้าที่สำคัญ
5. การเป็นคู่แข่งขัน (competitor) บริษัทต่างประเทศที่เข้าไปดำเนินงานในประเทศอื่นอาจทำให้ฐานะคู่แข่งขันกับบริษัทในประเทศนั้นี่เป็นของทั้งเอกชนหรือรัฐบาลก็ได้ เช่น บริษัทสายการบินของต่างประเทศอาจกลายเป็นคู่แข่งขันกับสายการบินในประเทศที่เป็นของรัฐบาล

การกำหนดกลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Level Strategy)


กลยุทธ์ระดับนี้ก็คือ องค์การจะแข่งขันอย่างไร และจะใช้อะไรในการแข่งขัน หรือสร้างคุณค่าอะไรที่ใช้เพื่อการแข่งขัน ตามปกติการแข่งขันจะต้องยึดหลักอย่างหนึ่งไว้ และหลักนั้นจะต้องสร้างคุณค่ามากกว่าคู่แข่งขัน หลักในการแข่งขันแบ่งออกเป็น 5 องค์ประกอบคือ ผู้ร่วมแข่งขัน คุณค่าที่เพิ่มขึ้น กฎการแข่งขัน กลวิธี และขอบเขตการแข่งขัน
1. ผู้ร่วมแข่งขัน (player) หมายถึง ผู้ดำเนินธุรกิจทุกรายในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้น ได้แก่ องค์การเราเอง ผู้ขายวัตถุดิบ ผู้ผลิตสินค้าที่ใช้แทนกัน คู่แข่งขันปัจจุบัน คู่แข่งขันรายใหม่และผู้สนับสนุน หากแยกจะได้เป็น 2 ฝ่าย ผู้แข่งขันโดยตรง (direct competitor) กับผู้สนับสนุน (complementation) ซึ่งคือผู้ที่ผลิตสินค้าและบริการที่ส่งเสริมสินค้าและบริการขององค์การเรา เช่น คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ การประกันภัยรถยนต์หรือทรัพย์สินคางๆ เหล่านี้เป็นผู้สนับสนุนทั้งสิ้น
2. คุณค่าที่เพิ่มขึ้น (added value) อันเกิดจากผลรวมของการแข่งขัน หมายถึง ผลรวมสุทธิที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของทั้งอุตสาหกรรมนั้น โดยปกติองค์การธุรกิจแต่ละแห่งจะพยายามสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น หรือหาให้ได้ว่าลูกค้าต้องการคุณค่าอะไร ธุรกิจก็จะสร้งคุณค่านั้นขึ้นมาโดยการเสอนขายสินค้าและบริการที่สร้างคุณค่านั้น ถ้าอยากจะรู้ว่าธุรกิจได้สร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นเท่าไรในตลาดก็ให้รวมคุณค่าของผู้ร่วมแข่งขันทั้งหมด นั้นคือ ประเมินคุณค่ารวมกันแล้ว หักด้วยคุณค่าที่จะลดลงจนทำให้ธุรกิจไม่อยู่ในฐานะที่จะแข่งขันในตลาดได้ เช่น โรงงานที่ผลิตสินค้าจะต้องซื้อวัตถุดิบมาจากผู้ขายวัตถุดิบ หากผู้ขายวัตถุดิบนั้นคิดราคาขายมากกว่าคุณค่าที่โรงงานสร้างขึ้นมา โรงงานก็จะหันไปซื้อวัตถุดิบรายอื่นแทน
3. กฎการแข่งขัน (rule) การแข่งขันจะถูกกำกับโดยกฎการแข่งขันที่เขียนขึ้นมาหรือไม่เขียนขึ้นมา กฎที่เขียนขึ้นมาก็ได้แก่ กฎหมายข้อกำหนดของรัฐ นโยบาย และสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างคู่สัญญาซึ่งถือว่าสำคัญกว่ากฎที่ไม่ได้เขียน แม้จะมองไม่เห็นชัดเจน ส่วนกฎที่ไม่ได้เขียนก็ได้แก่ จารีต ประเพณี วัฒนธรรม พฤติกรรมของคน พิธีการ แนวปฏิบัติในสังคมซึ่งมักจะเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์การแข่งขันที่เขียนขึ้นมาหรือไม่ได้เขียนขึ้น คู่แข่งขันมักจะหาวิธีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน กฎการแข่งขันจึงเป็นโครงสร้างและระบบที่ทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นซึ่งมักจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างหาวิธีทำให้เกิดความได้เปรียบซึ่งกันและกัน
4. กลวิธี (tactic) หมายถึง การกระทำใดๆ ที่ผู้ร่วมแข่งขันใช้ในการแข่งขันเพื่อคุกคามป้องกันคู่แข่งขันอื่นๆ และสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง แยกออกเป็น 4 วิธีคือ
4.1 การทำล่วงหน้า (preemption) เป็นกลวิธีที่ริเริ่มและนำมาใช้ก่อนคู่แข่งขันรายอื่นหรือการเข้าสู่ตลาดเป็นรายแรก เพื่อให้ลูกค้ารู้จักและสร้างอำนาจแข่งขันหรือทำกำไรให้มากกว่าคนอื่น
4.2 การยับยั้ง (deterrence) หมายถึง ทำให้คู่แข่งขันรายอื่นไม่กล้าเข้ามาแข่งขันด้วย อันเป็นภัยคุกคามไม่ให้ผู้อื่นทำตามด้วยการสร้างข้อจำกัด ทำให้คู่แข่งขันเห็นว่ามีกำไรน้อย ไม่อยากมาแข่งขันด้วย
4.3 การโจมตี (attack) เป็นกลวิธีต่อสู้โดยตรงกับคู่แข่งขันเพื่อรักษาสถานภาพของตัวเองให้เหนือกว่าคู่แข่งขันในเรื่องราคา ภาพลักษณ์ การจัดจำหน่าย สร้างลูกค้า และการขยายส่วนตลาด การโจมตีมักจะเสียค่าใช้จ่ายสูง และอาจทำให้ผู้ร่วมแข่งขันทั้งหมดเสียหายได้
4.4 การตอบโต้ (response) เป็นกลยุทธ์ในการป้องกันตัว อาจทำได้หลายวิธีตั้งแต่การต่อสู้โดยตรงกับคู่แข่งขันที่มาโจมตีก่อน การดำเนินวิธีการตามแบบคู่แข่งขันหรือเลียนแบบอย่างใกล้ชิด การถอนตัวด้วยการหาวิธีการอื่นมาตอบโต้หรือซุ่มเงียบด้วยการหาวิธีไม่ให้คู่แข่งขันรู้ และรวมทั้งการเลิกกิจการหรือออกจากตลาดก็ได้
5. ขอบเขต (scope) หมายถึง การกำหนดขอบเขตของการแข่งขันให้อยู่ในระดับใดระดับหนึ่ง ขอบเขตไม่กำหนดอย่างเป็นทางการ แต่ผู้เข้าร่วมแข่งขันพอจะรู้จากวิธีการดำเนินงาน เช่น กำหนดขอบเขตการแข่งขันเฉพาะตลาดอุตสาหกรรมก็จะรู้ว่าไม่เข้าไปแข่งขันในตลาดผู้บริโภค เป็นต้น การกำหนดขอบเขตทำให้รู้ว่าการดำเนินงานจะเน้นเรื่องอะไรเป็นสำคัญหรือระดับการดำเนินการอยู่ที่ไหน การกำหนดขอบเขตทำได้ 3 วิธีคือ
5.1 ตามหน้าที่ (function) หมายถึง ขอบเขตที่ระบุว่า องค์การนั้นทำอะไรในแง่ของ supply ก็รู้ว่าองค์การนั้นขายสินค้าหรือให้บริการอะไร ในแง่ของ demand ก็รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรจากองค์การนั้น
5.2 ตามเทคโนโลยี (technology) เป็นขอบเขตระบุว่า องค์การนั้นทำอย่างไรในแง่ของ supply ก็ทำให้รู้ขอบเขตว่า องค์การนั้นผลิตสินค้าอย่างไร ขายสินค้าอย่างไร และให้บริการอย่างไร ในแง่ของ demand ก็รู้ว่าองค์การนั้นทำหน้าที่อย่างไรในการผลิตสินค้าและให้บริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
5.3 ตามลูกค้า (customer) เป็นขอบเขตประเภทลูกค้าในแง่ของ supply ทำให้รู้เป้าหมายทางการตลาดของการผลิตสินค้าและการให้บริการ ในแง่ของ demand ก็รู้ว่าลูกค้าเป็นใครที่ต้องการสินค้าและบริการขององค์การนั้น

การกำหนดกลยุทธ์ระดับบริษัท


กลยุทธ์ระดับบริษัท (corporate level strategy) คือการสร้างคุณค่าให้กับเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้น ผู้บริหารจะต้องสร้างผลกำไรและก่อให้เกิดความมั่นคงให้กับธุรกิจที่ตัวเองดำเนินงาน วิธีที่ทำให้เกิดความมั่นคงและสร้างผลกำไรให้มากก็คือ การกระจาย (diversification) ไปยังธุรกิจต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บทบาทของ diversification จึงเป็นกลยุทธ์ระดับบริษัท ตัวอย่างก็คือ บริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่กระจายการดำเนินงานไปยังธุรกิจที่แตกต่างเป็นร้อยๆ บริษัท
การกระจายธุรกิจจึงเป็นการสร้างขนาดของการดำเนินงานให้ใหญ่ขึ้น ให้มั่นคงขึ้น การกระจายธุรกิจแสดงถึงความเจริญเติบโตขององค์การโดยไม่คำนึงว่า การกระจายนั้นจะเกี่ยวกับธุรกิจเดิมหรือไม่ก็ตาม เพราะถือว่าผู้บริหารที่ดีสามารถบริหารธุรกิจใดๆ ก็ได้ ในระยะแรกของการกระจายธุรกิจเพราะบริษัทมีเงินสดเหลืออยู่มากจึงนำเอาส่วนเกิดนของเงินสดที่มีเหลือไปลงทุนที่อื่นในลักษณะการบริหารเงิน แต่นานๆ เข้าก็เข้าไปดำเนินกิจการที่ไปลงทุนนั้นเสียเอง จึงไม่แปลกที่บริษัทขายเครื่องดื่มอย่าง โคคา โคล่า ไปซื้อกิจการบริษัทผลิตภาพยนตร์อย่างบริษัท โคลัมเบีย เป็นต้น
การกระจายธุรกิจทำได้ 3 รูปแบบคือ กระจายในแนวนอน กระจายในแนวดิ่ง และกระจายระดับโลก
1. กระจายในแนวนอน (Horizontal Diversification) ได้แก่ การดำเนินธุรกิจมากกว่า 1 แห่ง แต่ยังคงใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเดิม หรือยังคงอยู่ในหน้าที่เดิมที่กำลังทำอยู่ แม้จะเป็นตลาดคนละตลาด เช่นเดิมทำธุรกิจขายปลีกอาหารแล้วขยายไปทำธุรกิจขายปลีกเครื่องเพชรพลอยเพิ่มขึ้น แม้ว่าสินค้าที่ขายจะต่างกันและคนละตลาดกัน แต่ยังคงใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเดิมคือการขายปลีก การกระจายในแนวนอนเป็นการเพิ่มทางปริมาณงานมากขึ้น ส่วนความรู้ ความเชี่ยวชาญยังคงเหมือนเดิม การกระจายอาจเป็นธุรกิจในสายเดียวกันหรือสายงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเดิมก็ได้
2. กระจายในแนวดิ่ง (Vertical Diversification) ได้แก่ การทำธุรกิจที่มากกว่า 1 ขั้นของกระบวนการผลิตในการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบไปเป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างไปจากความรู้ความเชี่ยวชาญเดิมที่เคยใช้อยู่เช่นเดิม ทำธุรกิจประมงทะเลโดยใช้กองเรือจับปลาทะเลแล้วขยายงานไปทำธุรกิจขายส่งปลา การทำธุรกิจ 2 อย่าง แม้จะเป็นตลาดปลาซึ่งเป็นตลาดเดียวกันแต่ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญต่างกันคือ การจับปลาและเดินเรือ กับการขายส่ง เป็นการทำธุรกิจมากกว่า 1 ขั้นการผลิตคือ เดิมเป็นการดำเนินงานไปในทางขึ้น (upstream operation) คือจับปลาซึ่งอยู่ใกล้วัตถุดิบขยายไปเป็นการดำเนินงานไปในทางลง (downstream operation) คือ การขายส่งซึ่งอยู่ใกล้ไปทางผู้บริโภค การกระจายในแนวดิ่งเป็นการเพิ่มคุณภาพคือเพิ่มความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินงาน
การกระจายในแรวดิ่งมีผลดีในแง่ลดค่าใช้จ่ยในการขนส่งสินค้าระหว่างการผลิตและการขาย คือจากวัตถุดิบมาใช้ในการผลิตแล้วนำไปขายผ่านตัวแทนไม่ต้องเสียค่าขนส่งมาก นอกจากนั้น จะทำให้เกิดการประสานงานกันระหว่างขั้นตอนในการดำเนินงานต่างๆ ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบ การผลิต จนถึงการขาย แต่ก็มีผลเสียในแง่ของการผสมผสานความรู้ความเชี่ยวชาญต่างๆ เข้าด้วยกันคือ ความเชี่ยวชาญระหว่าง upstream กับ downstream มักจะมีวัฒนธรรมองค์การที่แตกต่างกัน
3. กระจายระดับโลก (Global Diversification) ได้แก่ การทำธุรกิจให้สามารถจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการได้ทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีขีดความสามารถทั้งการขายแนวนอนและแนวดิ่ง และต้อใช้กลยุทธ์ทั้งระดับดำเนินงาน ระดับบริษัท และระดับธุรกิจ

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

การเงิน

Market Capitalization หมายถึง มูลค่ารวมของหุ้นที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด (ผลรวมของมูลค่าหุ้นของทุกบริษัทในตลาด ซึ่งคำนวณมาจากราคาปิดของหุ้นแต่ละตัว คูณกับจำนวนหุ้นของแต่ละบริษัทในตลาด)

หุ้นกู้ (Corporate Debenture) หมายถึง ตราสารทางการเงินที่บริษัทจำกัดออก เพื่อกู้เงินระยะยาวเกินกว่า 1 ปี โดยผู้ซื้อหุ้นกู้จะได้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยตามระยะเวลาและอัตราที่กำหนด

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ (Subordinated Debenture) หมายถึง หุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์ได้รับการชำระหนี้คืนเป็นอันดับสองรองจากหุ้นกู้

หุ้นสามัญ (Common Stock) หมายถึง ตราสารที่แสดงว่าผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของกิจการ

ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) หมายถึง ผลรวมสุทธิของบัญชีการค้าสินค้า บัญชีการค้าภาคบริการ บัญชีรายได้ และบัญชีเงิน

ดุลการชำระเงิน หมายถึง ผลสรุปของการทำธุรกรรม (economic transactions) ระหว่างผู้มีถิ่นฐาน (residents) ในประเทศกับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (nonresidents) ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่กำหนด

เงินสำรองระหว่างประเทศ (Reserves Assets) หมายถึง สินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครอง หรือควบคุมโดยธนาคารกลาง และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทันทีที่จำเป็น เช่น การชดเชยการขาดดุลการชำระเงิน หรือใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

หนี้ต่างประเทศ (External Debt) หมายถึง ยอดคงค้างหนี้สินที่คนในประเทศ (residents) ก่อขึ้น โดยมีภาระผูกพันกับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (nonresidents) ที่จะต้องชำระคืนเงินต้น ทั้งหนี้สินที่มีดอกเบี้ยหรือไม่มีดอกเบี้ย

ตลาดการเงิน (Money Market) หมายถึง ตลาดการเงินที่เป็นแหล่งระดมเงิน และแหล่งเงินกู้ยืมระยะสั้นตามปกติจะกำหนดไว้ไม่เกิน 1 ปี ได้แก่ ตั๋วสัญญาใช้เงิน (promissory notes) ตั๋วแลกเงิน (bill of exchange) ตั๋วเงินคลัง (treasury bills) เป็นต้น

ตลาดทุน (Capital Market) หมายถึง ตลาดการเงินที่เป็นแหล่งระดมเงิน และแหล่งกู้ยืมในระยะยาวเกินกว่า 1 ปี ซึ่งจะประกอบด้วยการระดมทุนผ่านเครื่องมือที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ (non - securities) ซึ่งมีลักษณะเป็นตลาดการกู้ยืมเป็นสำคัญ เช่น การปล่อยสินเชื่อ การเช่าซื้อหรือการขายฝาก เป็นต้น รวมถึงการระดมทุนผ่านเครื่องมือที่เป็นหลักทรัพย์ (securities) ซึ่งมีลักษณะเป็นตลาดที่สามารถเจรจาได้ (negotiable) และมีการติดต่อกันโดยตรงระหว่างผู้ออมและผู้ต้องการใช้เงินทุน ซึ่งหมายรวมถึง ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารทุนด้วย

ตลาดตราสารหนี้ (Debt Instrument) หมายถึง ตลาดตราสารแสดงสิทธิ์ที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกตราสาร เช่น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตร รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ตลาดตราสารหนี้จะประกอบด้วยตลาดแรกและตลาดรอง
ตลาดแรก (Primary Market) หมายถึง แหล่งซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดแรก เป็นแหล่งระดมทุนโดยตรงสำหรับองค์กรที่ต้องการระดมเงินออม
ตลาดรอง (Secondary Market) หมายถึง แหล่งซื้อขาย หลักทรัพย์ที่ผ่านการซื้อขายในตลาดแรกมาแล้ว จะทำหน้าที่เป็นแหล่งเสริมสภาพคล่องให้กับหลักทรัพย์ที่ออมมาแล้ว

ตลาดตราสารทุน (Equity Instrument) หมายถึง ตลาดตราสารที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการ เช่น การลงทุนในหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ และหน่วยลงทุน

บทบาทของตลาดอนุพันธ์ต่อตลาดทุน

ตลาดอนุพันธ์ จัดการความเสี่ยง เสริมสร้างมั่นคง พัฒนาตลาดทุนการทำธุรกรรมในตลาดอนุพันธ์ มีวัตถุประสงค์ทั้งที่เพื่อการลงทุน การจัดการเงินลงทุน และการควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ตลาดอนุพันธ์มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงินและระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากอนุพันธ์สามารถ นำมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนหรือผู้ประกอบการต้องเผชิญได้อย่างมีประสิทธิภาพ อนุพันธ์สามารถอ้างอิงกับราคาหรือดัชนีราคาของสินค้าหรือสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ย ราคาพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น ด้วยความหลากหลายของสินทรัพย์อ้างอิงนี้ ทำให้อนุพันธ์สามารถใช้จัดการกับปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัว เช่น ในภาคการผลิต ผู้ผลิตสามารถใช้อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าต่าง ๆ ในการควบคุมราคาต้นทุนสินค้าทั้งทางด้านต้นทุนราคาวัตถุดิบและต้นทุนด้านการผลิต สามารถใช้ควบคุมราคาจัดจำหน่ายสินค้ารวมถึงสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ภายนอก เช่น ควบคุมราคาอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

ในภาคการเงินก็เช่นกัน ผู้ลงทุนหรือผู้ที่ประกอบธุรกิจในตลาดทุนที่ต้องเผชิญความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ การใช้อนุพันธ์ทางการเงินนี้ ช่วยให้ผู้ลงทุน และผู้ที่ประกอบธุรกิจในตลาดทุน สามารถบริหารความเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของตลาดอนุพันธ์อีกประการหนึ่ง คือ เป็นเครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการลงทุน อนุพันธ์ทางการเงินนั้น สามารถนำมาซื้อขาย เพื่อทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคา หรือทำกำไรจากทิศทางการขึ้นลงของตัวแปรทางการเงินต่าง ๆ ได้ ไม่วาจะเป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยน ยิ่งไปกว่านั้น อนุพันธ์ยังมีจุดเด่นที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือประกอบกลยุทธ์จัดการการลงทุนในแบบที่หลากหลายและคล่องตัว ช่วยให้การบริหารจัดการการลงทุนบรรลุวัตถุประสงค์ดังที่วางไว้

พันธกิจของตลาดอนุพันธ์
บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ เป็นหน่วยงานที่อาสาเข้ามาเป็นผู้บุกเบิกตลาดอนุพันธ์ทางการเงินในประเทศไทย เพื่อเป็นจักรกลในการพัฒนาความก้าวหน้าของตลาดทุนไทยให้เติบโตไปอย่างต่อเนื่อง โดย บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ กำหนดพันธกิจของของการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งสู่การเป็นตลาดอนุพันธ์ชั้นนำในอาเซียน

วิสัยทัศน์ของตลาดอนุพันธ์
ตลาดอนุพันธ์มุ่งมั่นพัฒนาสู่การเป็นตลาดอนุพันธ์ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายและมีสภาพคล่องภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีมาตรฐานสากล

กลยุทธ์และภารกิจสู่เป้าหมาย
เพื่อบรรลุพันธกิจของตลาดอนุพันธ์ บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ จึงได้กำหนดกลยุทธ์และภารกิจในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. สินค้า (product)
บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ วางกลยุทธ์โดยการจัดให้มีสินค้าหรืออนุพันธ์ที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ลงทุน ให้ประเภทและชนิดของอนุพันธ์ที่มีความหลากหลาย ที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตลาดอนุพันธ์เปิดดำเนินงานโดยจัดให้มีซื้อขายฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับดัชนีราคาหลักทรัพย์ SET50 (SET50 Index Futures) เป็นสินค้าลำดับแรกในวันที่ 28 เมษายน 2549 ออปชั่นที่อ้างอิงกับดัชนีราคาหลักทรัพย์ SET50 (SET50 Index Options) ในวันที่ 29 ตุลาคม 2550 Stock Futures ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 และ Gold Futures ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 สำหรับสินค้าในลำดับต่อไปจะเป็นออปชั่นที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ และฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจากตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มีมูลค่าการซื้อขายในระดับสูง และมีผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทั้งสองเป็นจำนวนมาก แต่ตลาดยังขาดเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

2. ความหลากหลายของผู้ลงทุน (diversity of participants)
ความหลากหลายของประเภทและปริมาณของผู้ลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญของตลาดอนุพันธ์ในการเสริมสร้างสภาพคล่องและสนันสนุนให้ราคาซื้อขายมีประสิทธิภาพ บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนทั่วไป รวมทั้งการร่วมมือศึกษาและลดอุปสรรคและเงื่อนไขของกฎเกณฑ์การลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งการเงื่อนไขการลงทุนของผู้ลงทุนต่างประเทศ

3. สภาพคล่อง (Liquidity)
บมจ. ตลาดอนุพันธ์ ตระหนักถึงความสำคัญของการมีสภาพคล่องการซื้อขายโดยได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ โดยสนับสนุนให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง(market maker) จากสมาชิกของตลาดอนุพันธ์และผู้ลงทุนสถาบันที่มีศักยภาพ เพื่อทำหน้าที่ดูแลการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ให้มีสภาพคล่องอยู่เสมอ ทำให้ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศมั่นใจว่าจะสามารซื้อและขายอนุพันธ์ได้ตามต้องการ

4. การเผยแพร่ความรู้และการประชาสัมพันธ์ (education and public relations)
การเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอนุพันธ์เป็นมาตรการสำคัญที่ดำเนินการอย่าง โดย บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ทางการตลาดและประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้เข้าถึงผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นสถาบันและผู้ลงทุนทั่วไปรวมถึงการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับอนุพันธ์ผ่านทางกิจกรรม สัมมนา และการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

ตลาดอนุพันธ์

ธุรกรรมอนุพันธ์ในประเทศไทยได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยเป็นไปในลักษณะของการตกลงระหว่างคู่สัญญาด้วยกันเอง ซึ่งมักเป็นการตกลงของธนาคารพาณิชย์กับผู้ประกอบการที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน จากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ธุรกรรมเหล่านี้จึงมักจำกัดอยู่ภายในกลุ่มของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลกิจกรรม ที่ธนาคารพาณิชย์ในการเสนอบริการด้านอนุพันธ์

ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและมีผลบังคับใช้แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของตลาดทุนไทย ได้จัดตั้งบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Thailand Futures Exchange--TFEX ขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 โดยมีเงินทุนประกอบการเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรืออนุพันธ์ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โดยตลาดอนุพันธ์ได้รับใบอนุญาตประกอบการ เป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548

พัฒนาการที่สำคัญของตลาดอนุพันธ์
• 28 เมษายน 2549 เปิดดำเนินการซื้อขาย โดยมี SET50 Index Futures เป็นสินค้าตัวแรก
• 28 สิงหาคม 2549 เริ่มให้ซื้อขาย SET50 Index Futures ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
• 18 กันยายน 2549 แต่งตั้งผู้ดูแลสภาพคล่องสำหรับ SET50 Index Futures
• 9 เมษายน 2550 ลงนามบันทึกความร่วมมือกับตลาดอนุพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Futures Exchange--TAIFEX)
• 3 กันยายน 2550 เริ่มให้ซื้อขายผ่านช่องทาง Direct Market Access--DMA
• 29 ตุลาคม 2550 เปิดซื้อขาย SET50 Index Options เป็นสินค้าลำดับที่สอง
• 16 พฤษภาคม 2551 ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับ Chicago Board Options Exchange--CBOE
• 5 กันยายน 2551 ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับ The Options Industry Council --OIC
• 24 พฤศจิกายน 2551 เปิดซื้อขาย Stock Futures เป็นสินค้าลำดับที่สาม
• 2 กุมภาพันธ์ 2552 เปิดซื้อขาย Gold Futures เป็นสินค้าลำดับที่สี่

ลักษณะการดำเนินงาน
บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ เป็นศูนย์กลางการซื้อขายอนุพันธ์เกี่ยวกับตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ภายใต้พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยมีสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล สินค้าที่สามารถจัดให้มีการซื้อขายได้ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 คือ ฟิวเจอร์ส (futures) ออปชั่น (options) และออปชันบนสัญญาฟิวเจอร์ส (options on futures) ของสินทรัพย์อ้างอิงประเภทต่าง ๆ ได้แก่
- อ้างอิงกับตราสารทุน ได้แก่ ดัชนีราคาหลักทรัพย์ หลักทรัพย์
- อ้างอิงกับตราสารหนี้ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล อัตราดอกเบี้ย
- อ้างอิงกับราคาหรือดัชนีราคาอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ น้ำมันดิบ อัตราแลกเปลี่ยน

ตลาดอนุพันธ์มีเป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่าและประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- เป็นศูนย์กลางการซื้อขายอนุพันธ์ที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในธุรกิจสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง (hedging instruments) ในการบริหารเงินลงทุนและธุรกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่สมเหตุสมผล
- เป็นทางเลือกของการลงทุน ภายใต้ระบบการซื้อขายที่มีความยุติธรรม โปร่งใส และมีสภาพคล่อง รวมทั้งมั่นใจในระบบการชำระราคาสำหรับทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดอนุพันธ์ที่จะมีสำนักหักบัญชีที่มีความมั่นคงเป็นคู่สัญญา
- ให้ผู้ลงทุนมีแหล่งข้อมูลที่สะท้อนความคาดหวังของผู้ที่อยู่ในตลาดที่มีต่อราคาหลักทรัพย์ในอนาคต ส่งผลให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จรรยาบรรณของตลาดอนุพันธ์
เพื่อดำรงไว้ซึ่งความไว้วางใจของสาธารณชน บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ จึงกำหนดข้อพึงปฏิบัติไว้ให้กรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา พนักงานบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยึดถือเพื่อเป็นหลักการและคุณธรรมประจำใจในการปฏิบัติงาน โดยมีหัวข้อดังนี้
• ข้อพึงปฏิบัติทั่วไป
- ข้อพึงปฏิบัติต่อตนเอง
- ข้อพึงปฏิบัติต่อผู้ลงทุน ผู้ใช้บริการ ผู้เกี่ยวข้อง และสาธารณชน
- ข้อพึงปฏิบัติต่อองค์กร
• ข้อพึงปฏิบัติระหว่างพนักงาน
• ข้อพึงปฏิบัติเมื่อมีปัญหา

การวางแผนทางการเงิน

การวางแผนทางการเงินจำเป็นสำหรับการดำเนินงานด้านธุรกิจ ผู้จัดการทางการเงินมักวางแผนล่วงหน้าสำหรับด้านต่าง ๆ เช่น การซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต การส่งเสริมการจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มการขาย การเพิ่มบุคลากรของแผนกต่าง ๆ เพื่อการขยายงาน เป็นต้น การพยากรณ์เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการวางแผน ฝ่ายบริหารจะใช้การพยากรณ์เป็นตัวช่วยชี้ให้เห็นว่าแผนสำหรับอนาคตนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจหรือไม่ หรืออาจใช้การพยากรณ์เพื่อคาดคะเนปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นและจะเป็นหนทางเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วย ฝ่ายบริหารควรเขียนแผนงานที่จะปฏิบัติการในอนาคตไว้ในงบประมาณทางการเงิน เพราะงบประมาณเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้บริหาร เมื่อพูดถึงงบประมาณแล้วควรทราบว่างบประมาณคืออะไร งบประมาณเป็นแผนงานที่แสดงออกมาในรูปของตัวเงิน ซึ่งได้ผ่านการคิดพิจารณาและตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งในอนาคต เช่น งบประมาณเกี่ยวกับการลงทุนแสดงรายจ่ายเกี่ยวกับการจ่ายลงทุนตามโครงการต่าง ๆ ที่ได้วางแผนไว้สำหรับช่วงเวลาของงบประมาณนั้น และแสดงออกมาในรูปของการเคลื่อนไหวของเงินสดต่าง ๆ ของธุรกิจ และควรรวมถึงแหล่งเงินทุนที่วางแผนว่าจะได้รับในอนาคต และการใช้เงินทุนด้วย

วิธีการวางแผนงานและการจัดทำงบประมาณทางการเงิน สำหรับธุรกิจมี 2 ลักษณะคือ
1. Top-down management คือวิธีการวางแผนที่เริ่มจากคิดเป้าหมายรวมของธุรกิจในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผน แล้วจึงพิจารณาถึงกิจกรรมต่าง ๆ หรือกิจกรรมย่อยที่จะรวมกันเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ วิธีการนี้ ใช้มากในการวางแผนระยะยาว เช่น บริษัทหรือร้านค้าต้องการเพิ่มกำไรปีละ 20% ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องพิจารณาถึงรายได้ที่จะได้รับ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น แล้วนำเป้าหมายรายได้นั้นมากำหนดเป็นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นที่ต้องใช้ทั้งหมด ผลของวิธีการนี้ก็คือ งบประมาณหรือแผนงานทั้งหมดของธุรกิจซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจที่ได้กำหนดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น
2. Bottom-up management คือวิธีการวางแผนที่เริ่มต้นจากแต่ละแผนกหรือส่วนงานพยากรณ์แยกกันในการคาดคะเนประมาณส่วนประกอบของกิจกรรมต่าง ๆ ของธุรกิจ โดยคิดเป็นงบประมาณของแต่ละแผนก จากนั้นจึงจะนำมารวมเข้าด้วยกันเป็นแผนการทางการเงินรวมของธุรกิจ
ในธุรกิจขนาดใหญ่จะใช้วิธีการทั้ง 2 ลักษณะเข้าด้วยกัน คือฝ่ายบริหารจะกำหนดแผนงานหลักตามเป้าหมายของธุรกิจขึ้น ส่วนแผนกต่าง ๆ ก็ทำงบประมาณของแต่ละส่วนขึ้น แล้วจึงนำมารวมกันเข้าและเปรียบเทียบกับแผนงานหลักที่ได้กำหนดขึ้น
ในการควบคุมเกี่ยวกับงบประมาณหรือการเงินขององค์การ ต้องมีการจัดการโครงสร้างทางการเงินขององค์การหรือของธุรกิจ ซึ่งเป้าหมายหลักส่วนหนึ่งขององค์การคือการให้เกิดกำไรสูงสุด และการลดความเสี่ยงภัยของธุรกิจโดยกำหนดสัดส่วนของการถือสินทรัพย์ว่าควรอยู่ในรูปใด เช่น รูปของเงินสดการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการถือในรูปของหลักทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงในรูปพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ นอกจากนั้นควรมีการจัดโครงสร้างทางการเงินของธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนที่ธุรกิจต้องการใช้ การจัดสรรเงินทุนหมุนเวียน การลดหนี้ผูกพัน การยืดเวลาชำระหนี้ การจัดสรรลงทุนสินทรัพย์ที่มีให้เหมาะสมกับทุนขององค์การและเงื่อนเวลาที่จำกัด การกำหนดนโยบายการจ่ายปันผลให้สัมพันธ์กับสินทรัพย์และโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งวิธีการจัดการด้านการเงินเพื่อประโยชน์ในด้านการทำกำไรคือการควบคุมต้นทุนด้านต่าง ๆ อาทิ ต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยที่ทางฝ่ายการเงินหรืองบประมาณควรจัดทำระบบบัญชีและสามารถวิเคราะห์ต้นทุนด้านต่าง ๆ พร้อมเสนอวิธีการลดต้นทุนให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถมองเห็นภาพชัดเจนเพื่อพิจารณาได้ และมีการพยากรณ์ผลกำไรในอนาคต โดยต้องมีการวางแผนการขายการพยากรณ์ปริมาณที่จะขายได้ คาดคะเนค่าใช้จ่ายในอนาคต วางแผนการขยายงานในอนาคต เพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่าจะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงไร และต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างไรบ้าง หรือควรจะมีการตัดสินใจเพื่อการลงทุนในอนาคตอย่างไร

วัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการด้านการเงิน
วัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการด้านการเงินคือ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว (liquidity) และเพื่อประโยชน์ในด้านการทำกำไร (profitability)

วิธีการบริหารจัดการด้านการเงินเพื่อความคล่องตัว ควรดำเนินการในด้านต่อไปนี้
1. พยากรณ์การเคลื่อนไหวของเงินสด (forecasting cash flow) โดยมีการวางแผนทางการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้มั่นใจว่ามีเงินสดเพียงพอสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และการลงทุน ซึ่งหากไม่พอเพียงจะได้หาแหล่งกู้ยืมเงินขาดมืออันจะก่อความเสียหายให้แก่องค์การหรือธุรกิจได้
2. การจัดหาเงินทุน (raising funds) ฝ่ายบริหารเลือกแหล่งกู้ยืมเงินที่เสียค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด และมีโอกาสที่จะได้รับเงินสดได้ทันตามความต้องการ
3. การบริหารเงินทุนหมุนเวียน (working capital management) เป็นการจัดสรรว่าเงินสดที่มีหรือเงินทุนที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายในรอบระยะเวลาของการปฏิบัติงาน (operating cycle) ซึ่งอาจเป็นระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือตามฤดูกาล ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดและลักษณะของธุรกิจ ซึ่งการเคลื่อนไหวของเงินทุนหมุนเวียนโดยทั่วไปมี 2 ลักษณะคือการเคลื่อนไหวในรอบระยะเวลาของการปฏิบัติงานระยะสั้น (short cycle) และการเคลื่อนไหวในรอบระยะเวลาของการปฏิบัติงานระยะยาว (long cycle) หรือการกำหนดเวลาที่ผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวข้องจะพิจารณาให้ใกล้เคียงกับสภาพการณ์ที่ควรเป็นของธุรกิจ โดยพิจารณาว่าควรนำไปใช้ในด้านใดบ้างและในปริมาณเท่าใด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เป็นค่าใช้จ่ายด้านส่งเสริมการจัดจำหน่าย ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะหากต้องมีการเสียดอกเบี้ยจากการกู้ยืมมาควรพิจารณาว่ามีความจำเป็นมากหรือไม่ และต้องนำอัตราดอกเบี้ยมาคิดรวมเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งหากผลตอบแทนต่ำจะเป็นการลดอัตราส่วนผลกำไรของกิจการลงได้

การเคลื่อนย้ายเงินทุน

การที่ระบบการเงินจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องมีสถาบันต่าง ๆ มาอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยสถาบันเหล่านั้นคือกลไกที่อยู่ภายใต้ ระบบการเงิน (financial system) ที่เป็นกลไกสำคัญของการเคลื่อนย้ายเงินทุนรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทุกหน่วยในตลาดการเงินจะทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ (ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, หน้า 4) โดยสามารถสรุปได้ ดังแสดงในภาพ 1

จากภาพ 1 โครงสร้างของรูปแบบการเคลื่อนย้ายเงินทุน แสดงให้เห็นทางเลือกในการระดมเงินทุนของภาคเอกชนใน 3 ช่องทาง โดยแต่ละช่องทางจะมีความแตกต่างในเรื่องลักษณะการไหลของเงินทุนจากเจ้าของเงินทุนมาสู่ผู้ต้องการเงินทุน และกระบวนการ เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการที่ตรงกันจากทั้งสองฝ่าย อันจะทำให้การไหลของเงินทุนเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ อาจพิจารณาจากภาพได้ว่า ช่องทางที่ (1) และช่องทางที่ (3) เป็นลักษณะของการจัดหาเงินทุนทางตรง ในขณะที่ช่องทางที่ (2) เป็นการจัดหาเงินทุนในทางอ้อม โดยมีรายละเอียด คือ (ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, หน้า 5-7)

1. การระดมเงินทุนโดยตรงภายในกิจการ เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่าง ๆ ภายในกิจการเอง ซึ่งมิได้มีสถาบันใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ตามที่ได้อธิบายไปแล้วในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนภายในกิจการ โดยข้อเสียของการระดมทุนแบบนี้ คือ ปริมาณเงินทุนที่ระดมได้มักไม่มากนักและอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ ที่มาของเงินทุน ยังเป็นของเจ้าของกิจการเองในส่วนของกำไรสะสมที่กิจการเก็บสะสมไว้

2. การเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านระบบสถาบันการเงิน เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนทางอ้อม ซึ่งมีความสำคัญมากต่อระบบการเงินไทย คือ การระดมทุนโดยผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ หรือการกู้หรือการให้สินเชื่อ ซึ่งมีแนวคิดเบื้องต้นมาจากการต้องการแก้ไขปัญหา ของความต้องการที่ไม่ตรงกันในด้านการระดมทุน ระหว่างผู้มีเงินทุนส่วนเกิน และผู้ขาดแคลนเงินทุน โดยสถาบันการเงินสามารถลดปัญหาเรื่อง จำนวนเงินทุน อัตราผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุน และระยะเวลาการลงทุนของผู้มีเงินทุนต้องการที่ต่างจากปริมาณเงินทุน ดอกเบี้ย จ่ายคืนเงินกู้ยืม และระยะเวลาที่จะสามารถหาเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาใช้คืนให้แก่เจ้าของเงินทุนของผู้ขาดแคลนเงินทุน

ในกรณีที่หากไม่มีระบบการเงินมารองรับ ต้นทุนในการจัดหาเงินทุนภายใต้ปัญหาของความต้องการที่ไม่ตรงกันในด้านการระดมทุนดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีมูลค่าสูง ในที่สุดอาจจะไม่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระบบการเงินดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สถาบันการเงินจึงก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ระดมเงินออมจากผู้มีเงินทุนส่วนเกินในปัจจุบันจากทั้งระบบการเงิน โดยสัญญาว่าจะนำเงินทุนดังกล่าวมาคืนให้ในอนาคตพร้อมดอกเบี้ย แล้วนำเงินออมที่ระดมได้นั้นมาให้สินเชื่อแก่ธุรกิจในภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุนในปัจจุบัน และสัญญาที่จะจ่ายชำระคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยเต็มจำนวนในอนาคต เพื่อให้สถาบันการเงินจ่ายคืนให้แก่เจ้าของเงินทุน ส่วนผลตอบแทนที่สถาบันการเงินได้รับในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของการเคลื่อนย้ายเงินทุน คือ ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือที่นิยมเรียกว่า Spread

ข้อดีของการเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านระบบสถาบันการเงินนี้ คือ ผู้ขาดแคลนเงินทุนสามารถได้รับเงินทุนตามจำนวนที่ต้องการอย่างครบถ้วน ในเวลาที่เหมาะสมและไม่ยุ่งยากเกินไป แต่มีภาระค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันการเงินสูงเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้องยินดีให้สถาบันการเงินทำการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท ทั้งนี้การที่สถาบันการเงินพยายามที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนในปริมาณที่สูง ทำให้สถาบันการเงินต้องบริหารเงินทุน ภายใต้ความเสี่ยงทางการเงินและทางธุรกิจอย่างระมัดระวังและมีระดับที่เหมาะสม กับการดำเนินธุรกิจต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan--NPL) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี พ.ศ. 2540

3. การเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุนด้วยช่องทางนี้เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนทางตรง เพราะเป็นการเคลื่อนย้ายของเงินทุนโดยตรงจากเจ้าของเงินทุนสู่เจ้าของกิจการซึ่งต้องการเงินทุนในตลาดการเงิน โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน สิ่งสำคัญของการเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงินนี้ คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าตนเปรียบเสมือนผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดสินค้าทั่วไป แต่มีข้อแตกต่างในประเด็นที่ว่าสินค้าในที่นี้เป็นสินค้าทางการเงิน ที่แลกเปลี่ยนกันในตลาดการเงิน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งได้ว่า สินทรัพย์ทางการเงิน (financial asset)

ข้อดีของการเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงิน คือ ผู้ขาดแคลนเงินทุนสามารถระดมทุนได้ในปริมาณสูง และยังเป็นการทำธุรกรรมในระบบที่มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ภายใต้การกำกับและดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยตลาดการเงินทำหน้าที่สำคัญในการอำนวยความสะดวก และอาจเป็นสถานที่ (เชิงกายภาพ) หรือระบบที่เอื้ออำนวยให้ผู้ขาดแคลนเงินทุนและผู้มีเงินทุนส่วนเกินมาพบกันและแลกเปลี่ยนความต้องการซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ในระบบของตลาดการเงินยังสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทตราสารหรือสินทรัพย์ทางการเงินที่มีอยู่ในตลาดการเงิน หรือรูปแบบของการระดมทุน ซึ่งอาจแสดงภาพโดยรวมได้ ดังแสดงในภาพ 2

ตลาดการเงินในฐานะเป็นตัวกลางทางการเงินที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากเจ้าของเงินทุนสู่กิจการซึ่งต้องการเงินทุน โดยสามารถแบ่งตลาดการเงินประเภทต่าง ๆ ตามเกณฑ์อายุของสินทรัพย์ทางการเงินที่นำออกขายได้เป็นตลาดเงินและตลาดทุน (ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, หน้า 8)

ตลาดเงิน (money market) เป็นแหล่งระดมเงินออมระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) แล้วจัดสรรให้กู้ยืมแก่ผู้ต้องการเงินทุน ตลาดเงินยังอาจแยกออกเป็นตลาดเงินของทางการ และตลาดเงินของเอกชน ซึ่งตลาดเงินของทางการได้แก่ ตลาดเงินให้กู้ยืมปกติของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล (repurchase market) ส่วนตลาดเงินเอกชนประกอบด้วย การกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน และตลาดตราสารการพาณิชย์ สถาบันที่อยู่ในตลาดเงินได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และโรงรับจำนำ ส่วนตราสารทางการเงินประกอบด้วย ตั๋วสัญญาใช้เงิน (promissory notes) ตั๋วเงินคลัง (treasury bills) เป็นต้น โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล ตลาดเงินในประเทศไทยนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดในภาคการเงิน ทั้งนี้เพราะเป็นแหล่งที่ระดมเงินออมและให้สินเชื่อมากที่สุด

ตลาดทุน (capital market) เป็นแหล่งระดมเงินออมระยะยาว (เกินกว่า 1 ปี) เพื่อจัดสรรให้กับผู้ต้องการเงินทุนระยะยาว โดยเฉพาะภาคธุรกิจ สถาบันที่อยู่ในตลาดทุนได้แก่ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตราสารทางการเงินหรือหลักทรัพย์ในตลาดทุน ประกอบด้วย หุ้นสามัญ (ordinary shares) หุ้นบุริมสิทธิ (preferred shares) หุ้นกู้ (debentures) พันธบัตรรัฐบาล (government bond) หน่วยลงทุนของกองทุนรวม และใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrants) เป็นต้น หน่วยงานที่ดูแลตลาดทุนคือคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535



บรรณานุกรม
ที่มาภาพ
1. จาก ตลาดหุ้นในประเทศไทย (หน้า 5), โดย ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, กรุงเทพมหานคร: บุญศิริการพิมพ์.
2. จาก ตลาดหุ้นในประเทศไทย (หน้า 7), โดย ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, กรุงเทพมหานคร: บุญศิริการพิมพ์.

ที่มาข้อมูล
1. เกรียงศักดิ์ พรพนาวรรณ. (2550, หน้า 15-20). บทบาทตลาดหลักทรัพย์ต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัย, เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
2. ศุภชัย ศรีสุชาติ. (2547). ตลาดหุ้นในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: บุญศิริการพิมพ์.

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผลตอบแทนจากการลงทุน

1.เงินปันผล คือ เงินส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานรายปีของกิจการพิจารณาจัดสรรโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่จัดให้มีขึ้นภายหลังจากการรับรองงบดุลและ งบการเงินของกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่จะประมาณเดือนเมษายนของทุกปีกฎหมายกำหนดให้กิจการต้องจัดให้มีประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง ภายในสี่เดือนนับจากวันสิ้นสุดปีบัญชี และไม่เกินรอบ 12 เดือนนับจากวันที่ประชุมครั้งหลังสุด

2.กำไรส่วนเกินทุน คือ เงินได้ที่เกิดขึ้นจากผลต่างของราคาขายหลักทรัพย์ที่สูงกว่าราคาทุน

ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ ได้แก่

1.ดอกเบี้ยรับ(Interest Received) คือ ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเป็นประจำตามจำนวนเงินที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ (coupon rate)บนตราสารหนี้ และตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล มีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ร้อยละ 7 จ่ายดอกเบี้ยทุกหกเดือน หมายความว่า ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน 3.50 บาท ในเดือนมิถุนายน และธันวาคม ของทุกปี เป็นต้นและงวดสุดท้ายจะได้รับดอกเบี้ยพร้อมการชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวน

2.ส่วนลดรับ (Discount Earned) คือ ในกรณีของตราสารหนี้ประเภท zero coupon bond ผู้ลงทุนสามารถซื้อตราสารหนี้ในราคาซื้อลด หรือในมูลค่าที่ต่ำกว่าจำนวนเงินหน้าตั๋ว (face value)ที่ระบุไว้ว่าจะใช้คืนในวันกำหนดชำระ ตัวอย่างเช่น

ตราสารหนี้ประเภท Zero coupon bond ที่ไม่มีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ จำนวนเงินที่จะชำระคืน 1,000 บาท กำหนดชำระคืนในปีที่ 5 นับจากวันลงทุน จำหน่ายให้แก่ผู้ลงทุนในอัตราผลตอบแทนจนถึงวันครบกำหนด (Yield to maturity) ที่ 7% ต่อปี ราคาซื้อของตราสารหนี้ประเภท Zero coupon bond จะคำนวณได้เท่ากับ 708.91 บาท

ส่วนลดรับ จะเท่ากับ 1,000 - 708.91 = 291.09 บาท

ส่วนลดรับ จึงเท่ากับ ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคารับชำระคืนเมื่อครบกำหนดนั่นเอง

3.กำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain) คือ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลง และมีผลให้อัตราผลตอบแทนในการลงทุน ( current yield)ที่มีผู้ประสงค์ซื้อจะลดลงด้วย ราคาซื้อขายของตราสารหนี้ที่มี coupon rate ที่ตราไว้ในอัตราสูงกว่า current yieldจะขยับตัวสูงขึ้น และเป็นที่มาของกำไรส่วนเกินทุน

ความเสี่ยง

ความเสี่ยง คือการที่ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจริงเบี่ยงแบนไปจากผลตอบแทนที่คาดหวังเมื่อเริ่มลงทุน ไม่ว่าจะมากขึ้นหรือลดลงก็ถือเป็นความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น ความเสี่ยงในการลงทุนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆได้แก่

1.ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารทุน แบ่งย่อยได้ 3 ประเภทได้แก่
1.1Company Risk หรือ Credit Risk คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในบริษัทนั้นๆ อาจเกิดได้ทั้งจากสาเหตุภายในแล้ะสาเหตุภายนอก ซึ่งผู้ลงทุนไม่สามารถรู้ได้ เช่น

-การเปลี่ยนแปลงคณะบริหาร

-ความผิดพลาดในการบริหาร

-การแข่งขันของคู่แข่ง

-ความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

-ภัยพิบัติ

-การถูกฟ้องดำเนินคดี หรือ ล้มละลาย

1.2 Sector Risk หรือ Industry Risk คือ ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมนั้นๆเอง เช่น อุตสาหกรรมที่ผลิต หรือให้บริการเฉพาะไม่กี่ประเภท เช่นบริษัทสายการบิน เหมืองแร่ บริษัทคอมพิวเตอร์และSoftware ซึ่งธุรกิจประเภทนี้สามารถพุ่งสูงขึ้นหรือ ตกต่ำได้ในชั่วพริบตาหากมีเหตุการไม่คาดฝันเกิดขึ้น

1.3Market Risk คือความเสี่ยงที่เกิดจากสถาณการการลงทุนตลาดหุ้นเกิดเปลี่ยนแปลง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากตัวนักลงทุนเองหรือจากความเป็นไปในตลาดหุ้นหรือจากสภาวะภายนอกเช่นการเมือง สภาพเศรษฐกิจ ก็มีส่วนเช่นกัน

2.ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้
โดยทั่วไปแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุน แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ หากนโยบายของภาครัฐไม่แน่นอนก็อาจจะทำให้ความผันผวนและความเสี่ยงในตลาดตราสารหนี้สูงกว่าตลาดทุนก็เป็นไปไดความเสี่ยงของตราสารหนี้มีอยู่ 10 ประเภทด้วยกัน

2.1Interest Rate Risk หรือ Market Risk เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากอัตตราดอกเบี้ยในตลาดเงินผันผวน เช่น เมื่อดอกเบี้ยในตลาดเงินสูงขึ้น หรือ มีท่าทีว่าจะสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ตราสารหนี้ที่ออกมาก่อนหน้า และมีการซื้อขายในตลาดรอง ก็จะมีราคาลดลงเพื่อดึงให้อัตราผลตอบแทน(Yield)ขยับสูงขึ้นไปอยู่ในระดับที่เทียบเคียงกันกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันฉะนั้น ยิ่งตราสารหนี้ที่มีอายุยาวเพียงใด หรือมีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ (coupon rate) ต่ำเพียงใด ตราสารหนี้นั้นก็จะมีความเสี่ยงต่ออัตราดอกเบี้ยที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น

2.2Credit Risk หรือ Default Risk ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระดอกเบี้ย หรือ ชำระคืนเงินต้นได้เต็มตามจำนวนเงินหรือ ตามเวลาที่กำหนดไว้ในบรรดาตราสารหนี้ทั้งหมดของภาครัฐและภาคเอกชน ตั๋วเงินคลังของรัฐบาล จะไม่มี credit risk เลย ในขณะที่ ตั๋วเงิน หรือ หุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ประเภทอื่น ๆ ที่ออกโดยภาคเอกชน จะมี credit risk มากบ้าง น้อยบ้างในระดับที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ออกตราสารหนี้นั้นๆ

2.3Purchasing Power Risk หรือ Inflation Risk ความเสี่ยงต่อการมีอำนาจซื้อที่ลดลงในอนาคตภาวะเงินเฟ้อมีอิทธิพลต่ออำนาจซื้อของผู้ลงทุน ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่คู่กันไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผู้ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวเกินกว่า 10 ปี จึงมีความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อและอำนาจซื้อที่ลดลงในอนาคต เพราะดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาว จะมีจำนวนเงินที่ได้รับในแต่ละงวดเท่าเดิมตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อทำให้ราคาสิ่งของแพงขึ้น

2.4Reinvestment Risk ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่ ผู้ลงทุนนำเอาดอกเบี้ยรายงวดที่ได้รับจากตราสารหนี้ ไปลงทุนต่อในตราสารที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ลดลงจากเดิม ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดต่ำลง ถึงแม้ว่าตราสารหนี้ที่ลงทุนไว้ จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้คงที่ก็ตาม แต่กระแสเงินสดที่ผู้ลงทุนได้รับจากดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ จะถูกนำไปลงทุนใหม่อีกครั้งในตราสารอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยลดต่ำลง กล่าวง่าย ๆ ก็คือ อัตราดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยรับลดลงนั่นเอง จึงทำให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมในการลงทุนในตราสารหนี้ของผู้ลงทุนนั้นลดลง

2.5Rollover Risk ความเสี่ยงที่เกิดในกรณีที่ตราสารหนี้ที่ลงทุนไว้เดิมครบกำหนดอายุในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลงและผู้ลงทุนต้องนำเงินต้นที่ได้รับชำระคืนจากตราสารหนี้นั้น ไปลงทุนใหม่ในตราสารหนี้ใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ในกรณีเช่นนี้ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนรอบใหม่จะลดลง เป็นความเสี่ยงที่มีลักษณะเหมือนกับ Reinvestment Risk แต่จะเกิดกับเงินต้นที่อ่อนตัวและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ตราสารหนี้ระยะสั้น จะมี rollover risk สูงสุดแต่ในช่วงที่ตลาดเงินตึงตัว และดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ตราสารหนี้ระยะสั้นก็จะมี rollover risk ต่ำและสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าตราสารหนี้ประเภทอื่น

2.6Call Risk ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ผู้ออกตราสารหนี้ขอชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด ความเสี่ยงประเภทนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับตราสารหนี้ที่มีการระบุเงื่อนไขcall option ไว้ล่วงหน้าว่าผู้ออกตราสารหนี้มีสิทธิที่จะจ่ายชำระคืนหนี้ได้ก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงและผู้ออกตราสารหนี้สามารถหาแหล่งเงินทุนอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาจ่ายคืน (refinancing)ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้จะถูกบังคับให้รับคืนเงินและต้องนำเงินที่ได้รับคืนนั้น ไปลงทุนใหม่ในตราสารอื่นที่มีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเดิมที่เคยได้รับ

2.7Prepayment Risk ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ลูกหนี้จ่ายชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนดอายุเช่นเดียวกันกับ call risk แต่ความเสี่ยงประเภท prepayment risk นี้ มักจะเกิดขึ้นกับตราสารหนี้ประเภทที่มีบัญชีลูกหนี้พร้อมหลักทรัพย์จดจำนองเป็นประกันการชำระคืนของตราสารหนี้นั้น(mortgaged-back securities) หากลูกหนี้ตามสัญญาจำนองชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยก่อนกำหนด และถอนหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตราสารหนี้นั้นก็จะต้องรับคืนเงินก่อนกำหนดและหากอยู่ในระหว่างอัตราดอกเบี้ยขาลง ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ก็จะเสียเปรียบ เช่นเดียวกับกรณีของreinvestment risk

2.8Currency Risk หรือ Exchange Risk ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับกรณีของการลงทุนข้ามประเทศ

2.9Liquidity Risk ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการขาดสภาพคล่องในการซื้อขายเปลี่ยนมือของตราสารหนี้นั้นๆมักจะเกิดขึ้นกับกรณีที่ผู้ลงทุนลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่เป็นที่นิยมและมีปริมาณซื้อขายในตลาดรองน้อยมาก หากผู้ลงทุนประสงค์จะขายตราสารหนี้นั้นเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดในกรณีจำเป็นผู้ลงทุนอาจจะต้องยอมลดราคาขายลงต่ำกว่าราคาตลาดโดยทั่วไป เพื่อดึงให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้นและดึงดูดความสนใจให้มีผู้ซื้อเข้ามาซื้อ ราคาซื้อขายดังกล่าวไม่ใช่ราคาที่ยุติธรรมต่อผู้ขายอย่างแน่นอน หรืออาจจะถึงขั้นที่เป็นราคาขาดทุนก็เป็นได้ ฉะนั้น การลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่มีสภาพคล่อง ก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่สำคัญ

2.10Event Risk ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อนโยบายในการดำเนินงานของผู้ออกตราสารหนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลังจากการถือครอบงำกิจการ และอาจมีดุลพินิจที่ไม่เป็นคุณแก่เจ้าหนี้ตราสารหนี้เดิม เช่นการประกาศเพิ่มอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลต่อกำไร (payout ratio) หรือประกาศเพิ่มทุนครั้งใหญ่ ซึ่งหมายถึงกระแสเงินสดจำนวนมากที่จะต้องจ่ายเป็นเงินปันผลประจำปี และมีผลทำให้ฐานทุนของบริษัทลดความเข้มแข็งลง

ตราสารที่ลงทุน

1.ตราสารทุน (Equity Instruments) หมายถึง ตราสารที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือ เพื่อแสดงสิทธิของความเป็นเจ้าของในกิจการนั้น ประเภทของตราสารทุนได้แก่

1.1หุ้นสามัญ (Common Stocks หรือ Ordinary Shares) คือ ตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ และเมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับเงินปันผลในอัตราที่จัดสรรโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น โดยคำนวณตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ถือครอง ทั้งนี้ เงินปันผลอาจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลกำไรจากการดำเนินงานประจำปีของกิจการ

1.2หุ้นบุริมสิทธิ์ (Preferred Stocks) คือ ตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการที่มีการจดบุริมสิทธิ์ไว้อย่างชัดเจนไม่สามารถยกเลิกได้ เมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินปันผลในอัตราคงที่ตามที่จดบุริมสิทธิ์ไว้ อาจจะมากหรือน้อยกว่าผู้ถือหุ้นสามัญก็ได้ แต่หากกิจการนั้นต้องเลิกดำเนินการและมีการชำระบัญชีโดยการขายทรัพย์สิน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินคืนทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

1.3ใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น (Stock Warrants) คือ ตราสารสิทธิที่กิจการออกให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้สิทธิในการซื้อหุ้นออกใหม่ในราคา จำนวน และภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ลงทุนจะมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการก็ต่อเมื่อได้ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นของกิจการนั้นแล้วเท่านั้น

1.4หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน คือ ตราสารสิทธิในการเป็นเจ้าของหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนเน้นการลงทุนในตราสารทุน ผู้ลงทุนจะมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการที่กองทุนรวมนั้นลงทุนไว้ ตามสิทธิที่เฉลี่ยระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดในกองทุนรวมนั้นนั่นเอง

1.5ตราสารแสดงสิทธิในอนุพันธ์ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น (Stock Options & Futures) คือ สัญญาที่ผู้ลงทุนสองฝ่ายตกลงกันเพื่อซื้อหรือขายหุ้นในราคา จำนวน และภายในระยะเวลาที่กำหนด

2.ตราสารหนี้ (Debt Instruments) หมายถึง ตราสารแสดงความเป็นหนี้ หรือ สัญญาเงินกู้ที่บริษัทออกให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป โดยสัญญาว่าจะใช้เงินตามกำหนด และจ่ายดอกเบี้ยตามกำหนด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นตราสารสิทธิที่แสดงความเป็น "เจ้าหนี้ของกิจการ" โดยทั่วไปแล้วการลงทุนในตราสารหนี้ จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุน ประเภทของตราสารหนี้ ได้แก่

2.1ตราสารหนี้ภาครัฐ ได้แก่
พันธบัตรรัฐบาล (government bond)
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (state-owned enterprise bond)
พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ตั๋วเงินคลัง (treasury bill)
ตราสารหนี้ภาครัฐ มีความเสี่ยงต่ำสุดในด้านความสามารถในการชำระหนี้ แต่ตราสาร หนี้ภาครัฐก็จะมีอัตราผลตอบแทนไม่สูงนัก ส่วนใหญ่จะมีอายุการลงทุนยาว เพื่อมิให้เป็นภาระของรัฐในด้านการบริหารและการจัดการหนี้ ยกเว้นแต่กรณีของตั๋วเงินคลัง ซึ่งรัฐบาลออกเพื่อใช้ในการกู้ยืมเงินระยะสั้น (ไม่เกิน 180 วัน) หรือเพื่อดูดซับเงินสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดเงิน เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น

2.2ตราสารหนี้ภาคเอกชน ได้แก่

2.2.1หุ้นกู้ (Debenture) มีลักษณะและคุณสมบัติตามสถานะของการเป็นเจ้าหนี้
-หุ้นกู้มีประกัน (secured debt) มีการค้ำประกันหนี้โดยบุคคลที่สาม (ส่วนใหญ่ได้แก่ บริษัทแม่หรือสถาบันการเงิน) หรือมีการวางหลักทรัพย์ไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้เหนือกว่าเจ้าหนี้รายอื่น
-หุ้นกู้ไม่มีประกัน (non-secured debt) ปลอดการค้ำประกัน และปลอดหลักทรัพย์ที่วางไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกัน
-หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (senior debt) ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้เท่าเทียมกับเจ้าหนี้รายอื่น แต่ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกัน
-หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (subordinated debt) ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ เป็นรองเจ้าหนี้รายอื่นที่ไม่ด้อยสิทธิ นั่นคือ ได้รับชำระหนี้คืนหลังสุด

2.2.2ตั๋วแลกเงิน (Bill of exchange) คือ ตราสารการเงินระยะสั้น ที่บุคคลรายหนึ่งสั่งให้บุคคลอีกรายหนึ่ง จ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่บุคคลอีกรายหนึ่ง ในวันที่กำหนดบนหน้าตั๋วแลกเงินนั้น ตั๋วแลกเงินสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดเงิน (money market) ส่วนใหญ่จะมีธนาคารหรือสถาบันการเงินค้ำประกัน หรือรับรอง หรือรับอาวัล หรือสลักหลังอย่างไม่มีเงื่อนไข

2.2.3ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory note) คือ ตราสารการเงินระยะสั้นที่ออกโดยบุคคลรายหนึ่งสัญญากับบุคคลอีกรายหนึ่งว่า จะใช้เงินจำนวนที่ระบุบนหน้าตั๋วสัญญาใช้เงิน พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้ในวันที่กำหนด ตั๋วสัญญาใช้เงินโดยส่วนใหญ่จะแลกเปลี่ยนมือไม่ได้ (non-negotiable) และแสดงข้อความไว้บนหน้าตั๋ว แต่ถ้าไม่มีการแสดงไว้ดังกล่าว และตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นมีธนาคารหรือสถาบันการเงินค้ำประกัน หรือรับรอง หรือรับอาวัล ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นก็สามารถนำมาซื้อขายในตลาดเงินได้

2.2.4บัตรเงินฝากแลกเปลี่ยนมือได้ (Negotiable Certificate of Deposit) คือ ตราสารแสดงการฝากเงินกับธนาคาร สามารถแลกเปลี่ยนมือได้ในตลาดรอง หากพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้ของภาครัฐ แต่ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า และมีอายุการลงทุนให้เลือกมาก ทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว

ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account : CA)

ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account : CA) คือ ผลรวมสุทธิของดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน - ดุลการค้า (Trade Balance) เป็นผลต่างสุทธิระหว่างมูลค่าสินค้าออก กับ มูลค่าสินค้าเข้า - ดุลบริการ (Net Services)เป็นผลต่างสุทธิที่แสดงถึงการค้าระหว่างประเทศ ในด้านบริการ ประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าท่องเที่ยว ค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของภาคทางการ ค่าสื่อสารโทรคมนาคม ค่ารับเหมาก่อสร้าง ค่ารอยัลตี้ และค่าเครื่องหมายการค้า/สิทธิบัตร ค่าประกันภัย เป็นต้น - รายได้ (Income) ประกอบด้วย(1) ผลตอบแทนการจ้างงาน(Compensation of Employees) หมายถึง รายได้ในรูปของค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน และ(2) รายได้จากการลงทุน (Investment Income) หมายถึง ผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือครองทรัพย์สินทางการเงินในต่างประเทศ ได้แก่ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนโดยตรง การลงทุนในหลักทรัพย์ และการลงทุนอื่นๆ - เงินโอนและบริจาค (Current transfers) หมายถึง เงินบริจาค หรือเงินช่วยเหลือต่างๆ ที่ผู้มีถิ่นฐานในประเทศ (residents) ได้รับหรือโอนให้ผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (nonresidents) ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพยากรที่แท้จริงหรือทางการเงิน เช่น เงินที่ทางประเทศไทยได้รับจากการบริจาคจากประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์ซึนามิ ทางภาคใต้ เป็นต้น
ดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) คือ บัญชีที่จัดทำขึ้นเพื่อดูการไหลเข้าและออกของเงินตราต่างประเทศจากการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ระหว่างผู้มีถิ่นฐานในประเทศ (Residents) กับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (Nonresidents) ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งดุลการชำระเงินจะประกอบไปด้วย



1. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) หมายถึง ดุลการค้า + ดุลบริการ + ดุลรายได้จากการลงทุนระหว่างประเทศ + ดุลเงินโอนระหว่างประเทศ ข้อสังเกตที่สำคัญของดุลบัญชีเดินสะพัด คือ เป็นเงินที่มีลักษณะการโยกย้ายแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องโอนเงินดังกล่าวกลับไปในภายหลัง โดยองค์ประกอบของดุลบัญชีเดินสะพัด ได้แก่


· ดุลการค้า (Balance of Trade) หมายถึง ผลต่างระหว่างมูลค่าสินค้าส่งออก (Export) และสินค้านำเข้า (Import) ของประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยทั่วไประยะเวลาที่ใช้เปรียบเทียบ คือ รายเดือน รายไตรมาส และรายปี

· ดุลบริการ (Balance of Service) หมายถึง ผลต่างระหว่างมูลค่าบริการที่ได้รับจากต่างประเทศและมูลค่าบริการที่จ่ายไปยังต่างประเทศ รายการหลักสำหรับประเทศไทยในดุลบริการ ได้แก่ ดุลการท่องเที่ยว และค่าบริการขนส่งระหว่างประเทศ

· ดุลรายได้จากการลงทุนระหว่างประเทศ (Investment Income Balance) หมายถึง ผลต่างระหว่างเงินรายได้ ดอกเบี้ย และเงินปันผลที่โอนจากนอกประเทศเข้ามาในประเทศ และเงินรายได้ในลักษณะเดียวกันที่โอนออกนอกประเทศ

· ดุลเงินโอนระหว่างประเทศ (Transfer Balance) เป็นการโอนเงินไปมาระหว่างประเทศโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการ เช่น บริษัทแม่ในต่างประเทศโอนเงินเข้ามาให้บริษัทลูกที่อยู่ในประเทศไทย หรือคนไทยโอนเงินไปทำบุญแก่วัดไทยในต่างประเทศ เป็นต้น

ตลาดทุน (Capital market)

“ตลาดทุน (Capital market)” เป็นแหล่งในการระดมเงินออมระยะยาว (เกิน 1 ปี) เพื่อทำการจัดสรรให้กับผู้ที่ต้องการเงินทุนระยะยาว นำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การขยายธุรกิจของผู้ประกอบกิจการเอกชน หรือการลงทุนในด้านการสาธารณูปโภคของภาครัฐบาล เป็นต้น โดยผู้ที่ต้องการระดมเงินทุนจะออกตราสารทางการเงิน หรือหลักทรัพย์ในตลาดทุน ซึ่งประกอบด้วย หุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ, หุ้นกู้, พันธบัตรรัฐบาล, หน่วยลงทุนของกองทุนรวม, หรือใบสำคัญแสดงสิทธิ เพื่อขายให้กับบุคคลภายนอก หรือประชาชนโดยทั่วไปใน “ตลาดแรก (Primary Market)”
โดยมี “ตลาดรองหรือตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ (Secondary or Trading Market)” เป็นแหล่งกลาง สำหรับการซื้อขายเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการจองซื้อในตลาดแรกมาแล้ว เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรกว่า เขาจะสามารถขายหลักทรัพย์นั้นเพื่อเปลี่ยนกลับคืนเป็นเงินสดได้เมื่อต้องการ

และ “ตลาดหลักทรัพย์ (Securities Market)” เป็นสถาบันหนึ่งในตลาดรอง ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมการระดมเงินออม และจัดสรรเงินทุนในตลาดทุน อันเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

วัตถุประสงค์สำหรับการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นครั้งแรก ในพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 คือเพื่อ

· จัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์

· ทำหน้าที่ส่งเสริมการออมทรัพย์และการระดมเงินทุนในประเทศ

· สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจ และอุตสาหกรรมภายในประเทศ

· ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ให้การซื้อขายหลักทรัพย์มีสภาพคล่อง อยู่ในระดับราคาที่สมเหตุสมผลเป็นไปอย่างมีระเบียบและยุติธรรม

· ให้ตลาดหลักทรัพย์มีสภาพเป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันเอกชน ดำเนินการโดยไม่นำผลกำไรมาแบ่งปันก
สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยได้แก่ :-

1. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand) ทำหน้าที่เป็นตลาดหุ้น หรือศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตัวตลาดหลักทรัพย์เองไม่ได้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรง หากแต่ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้การซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นไปอย่างมีระเบียบ คล่องตัวและยุติธรรม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน และก่อให้เกิดการระดมเงินออมจากประชาชนไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยส่วนรวม

2. บริษัทสมาชิก (Broker) ทำหน้าที่เป็นตัวแทน หรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป โดยบริษัทสมาชิกจะได้รับค่าธรรมเนียมเป็นการตอบแทน รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทสมาชิก จะได้กล่าวถึงในบทต่อไป

3. หลักทรัพย์จดทะเบียน (Listed Security) หมายถึง หลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัท เพื่อให้มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยทั้งหลักทรัพย์จดทะเบียนและบริษัทจดทะเบียนผู้ออกหลักทรัพย์นั้น จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด และเป็นไปตามข้อตกลงการจดทะเบียนหลักทรัพย์ (Listing Agreement) ประเภทของหลักทรัพย์จดทะเบียนสามารถแบ่งออกเป็น หุ้นสามัญ (Ordinary Share), หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Share), หุ้นกู้ (Debenture), หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture), พันธบัตร (Bond), หน่วยลงทุน (Unit Trust), ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน (Warrant), และใบสำคัญแสดงสิทธิระยะสั้น (Short - Term Warrant)

4. ผู้ลงทุน (Investor) จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนอาจเป็นประชาชนทั่วไปหรือนิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนในรูปของกำไรจากการซื้อขาย (ผู้ลงทุนระยะสั้น) หรือรวมทั้งดอกเบี้ยและเงินปันผลด้วย (ผู้ลงทุนระยะยาว)

Popular Posts