MBA

We constantly research and disseminate knowledge to prepare graduate students to be leaders at the community, national and international levels.

Facebook is a social utility that connects people with friends and others who work, study and live around them. People use Facebook to keep up with friends

Custom Search

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

การเงิน

Market Capitalization หมายถึง มูลค่ารวมของหุ้นที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด (ผลรวมของมูลค่าหุ้นของทุกบริษัทในตลาด ซึ่งคำนวณมาจากราคาปิดของหุ้นแต่ละตัว คูณกับจำนวนหุ้นของแต่ละบริษัทในตลาด)

หุ้นกู้ (Corporate Debenture) หมายถึง ตราสารทางการเงินที่บริษัทจำกัดออก เพื่อกู้เงินระยะยาวเกินกว่า 1 ปี โดยผู้ซื้อหุ้นกู้จะได้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยตามระยะเวลาและอัตราที่กำหนด

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ (Subordinated Debenture) หมายถึง หุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์ได้รับการชำระหนี้คืนเป็นอันดับสองรองจากหุ้นกู้

หุ้นสามัญ (Common Stock) หมายถึง ตราสารที่แสดงว่าผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของกิจการ

ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) หมายถึง ผลรวมสุทธิของบัญชีการค้าสินค้า บัญชีการค้าภาคบริการ บัญชีรายได้ และบัญชีเงิน

ดุลการชำระเงิน หมายถึง ผลสรุปของการทำธุรกรรม (economic transactions) ระหว่างผู้มีถิ่นฐาน (residents) ในประเทศกับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (nonresidents) ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่กำหนด

เงินสำรองระหว่างประเทศ (Reserves Assets) หมายถึง สินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครอง หรือควบคุมโดยธนาคารกลาง และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทันทีที่จำเป็น เช่น การชดเชยการขาดดุลการชำระเงิน หรือใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

หนี้ต่างประเทศ (External Debt) หมายถึง ยอดคงค้างหนี้สินที่คนในประเทศ (residents) ก่อขึ้น โดยมีภาระผูกพันกับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (nonresidents) ที่จะต้องชำระคืนเงินต้น ทั้งหนี้สินที่มีดอกเบี้ยหรือไม่มีดอกเบี้ย

ตลาดการเงิน (Money Market) หมายถึง ตลาดการเงินที่เป็นแหล่งระดมเงิน และแหล่งเงินกู้ยืมระยะสั้นตามปกติจะกำหนดไว้ไม่เกิน 1 ปี ได้แก่ ตั๋วสัญญาใช้เงิน (promissory notes) ตั๋วแลกเงิน (bill of exchange) ตั๋วเงินคลัง (treasury bills) เป็นต้น

ตลาดทุน (Capital Market) หมายถึง ตลาดการเงินที่เป็นแหล่งระดมเงิน และแหล่งกู้ยืมในระยะยาวเกินกว่า 1 ปี ซึ่งจะประกอบด้วยการระดมทุนผ่านเครื่องมือที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ (non - securities) ซึ่งมีลักษณะเป็นตลาดการกู้ยืมเป็นสำคัญ เช่น การปล่อยสินเชื่อ การเช่าซื้อหรือการขายฝาก เป็นต้น รวมถึงการระดมทุนผ่านเครื่องมือที่เป็นหลักทรัพย์ (securities) ซึ่งมีลักษณะเป็นตลาดที่สามารถเจรจาได้ (negotiable) และมีการติดต่อกันโดยตรงระหว่างผู้ออมและผู้ต้องการใช้เงินทุน ซึ่งหมายรวมถึง ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารทุนด้วย

ตลาดตราสารหนี้ (Debt Instrument) หมายถึง ตลาดตราสารแสดงสิทธิ์ที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกตราสาร เช่น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตร รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ตลาดตราสารหนี้จะประกอบด้วยตลาดแรกและตลาดรอง
ตลาดแรก (Primary Market) หมายถึง แหล่งซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดแรก เป็นแหล่งระดมทุนโดยตรงสำหรับองค์กรที่ต้องการระดมเงินออม
ตลาดรอง (Secondary Market) หมายถึง แหล่งซื้อขาย หลักทรัพย์ที่ผ่านการซื้อขายในตลาดแรกมาแล้ว จะทำหน้าที่เป็นแหล่งเสริมสภาพคล่องให้กับหลักทรัพย์ที่ออมมาแล้ว

ตลาดตราสารทุน (Equity Instrument) หมายถึง ตลาดตราสารที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการ เช่น การลงทุนในหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ และหน่วยลงทุน

บทบาทของตลาดอนุพันธ์ต่อตลาดทุน

ตลาดอนุพันธ์ จัดการความเสี่ยง เสริมสร้างมั่นคง พัฒนาตลาดทุนการทำธุรกรรมในตลาดอนุพันธ์ มีวัตถุประสงค์ทั้งที่เพื่อการลงทุน การจัดการเงินลงทุน และการควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ตลาดอนุพันธ์มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงินและระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากอนุพันธ์สามารถ นำมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนหรือผู้ประกอบการต้องเผชิญได้อย่างมีประสิทธิภาพ อนุพันธ์สามารถอ้างอิงกับราคาหรือดัชนีราคาของสินค้าหรือสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ย ราคาพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น ด้วยความหลากหลายของสินทรัพย์อ้างอิงนี้ ทำให้อนุพันธ์สามารถใช้จัดการกับปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัว เช่น ในภาคการผลิต ผู้ผลิตสามารถใช้อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าต่าง ๆ ในการควบคุมราคาต้นทุนสินค้าทั้งทางด้านต้นทุนราคาวัตถุดิบและต้นทุนด้านการผลิต สามารถใช้ควบคุมราคาจัดจำหน่ายสินค้ารวมถึงสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ภายนอก เช่น ควบคุมราคาอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

ในภาคการเงินก็เช่นกัน ผู้ลงทุนหรือผู้ที่ประกอบธุรกิจในตลาดทุนที่ต้องเผชิญความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ การใช้อนุพันธ์ทางการเงินนี้ ช่วยให้ผู้ลงทุน และผู้ที่ประกอบธุรกิจในตลาดทุน สามารถบริหารความเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของตลาดอนุพันธ์อีกประการหนึ่ง คือ เป็นเครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการลงทุน อนุพันธ์ทางการเงินนั้น สามารถนำมาซื้อขาย เพื่อทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคา หรือทำกำไรจากทิศทางการขึ้นลงของตัวแปรทางการเงินต่าง ๆ ได้ ไม่วาจะเป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยน ยิ่งไปกว่านั้น อนุพันธ์ยังมีจุดเด่นที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือประกอบกลยุทธ์จัดการการลงทุนในแบบที่หลากหลายและคล่องตัว ช่วยให้การบริหารจัดการการลงทุนบรรลุวัตถุประสงค์ดังที่วางไว้

พันธกิจของตลาดอนุพันธ์
บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ เป็นหน่วยงานที่อาสาเข้ามาเป็นผู้บุกเบิกตลาดอนุพันธ์ทางการเงินในประเทศไทย เพื่อเป็นจักรกลในการพัฒนาความก้าวหน้าของตลาดทุนไทยให้เติบโตไปอย่างต่อเนื่อง โดย บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ กำหนดพันธกิจของของการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งสู่การเป็นตลาดอนุพันธ์ชั้นนำในอาเซียน

วิสัยทัศน์ของตลาดอนุพันธ์
ตลาดอนุพันธ์มุ่งมั่นพัฒนาสู่การเป็นตลาดอนุพันธ์ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายและมีสภาพคล่องภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีมาตรฐานสากล

กลยุทธ์และภารกิจสู่เป้าหมาย
เพื่อบรรลุพันธกิจของตลาดอนุพันธ์ บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ จึงได้กำหนดกลยุทธ์และภารกิจในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. สินค้า (product)
บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ วางกลยุทธ์โดยการจัดให้มีสินค้าหรืออนุพันธ์ที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ลงทุน ให้ประเภทและชนิดของอนุพันธ์ที่มีความหลากหลาย ที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตลาดอนุพันธ์เปิดดำเนินงานโดยจัดให้มีซื้อขายฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับดัชนีราคาหลักทรัพย์ SET50 (SET50 Index Futures) เป็นสินค้าลำดับแรกในวันที่ 28 เมษายน 2549 ออปชั่นที่อ้างอิงกับดัชนีราคาหลักทรัพย์ SET50 (SET50 Index Options) ในวันที่ 29 ตุลาคม 2550 Stock Futures ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 และ Gold Futures ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 สำหรับสินค้าในลำดับต่อไปจะเป็นออปชั่นที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ และฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจากตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มีมูลค่าการซื้อขายในระดับสูง และมีผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทั้งสองเป็นจำนวนมาก แต่ตลาดยังขาดเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

2. ความหลากหลายของผู้ลงทุน (diversity of participants)
ความหลากหลายของประเภทและปริมาณของผู้ลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญของตลาดอนุพันธ์ในการเสริมสร้างสภาพคล่องและสนันสนุนให้ราคาซื้อขายมีประสิทธิภาพ บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนทั่วไป รวมทั้งการร่วมมือศึกษาและลดอุปสรรคและเงื่อนไขของกฎเกณฑ์การลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งการเงื่อนไขการลงทุนของผู้ลงทุนต่างประเทศ

3. สภาพคล่อง (Liquidity)
บมจ. ตลาดอนุพันธ์ ตระหนักถึงความสำคัญของการมีสภาพคล่องการซื้อขายโดยได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ โดยสนับสนุนให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง(market maker) จากสมาชิกของตลาดอนุพันธ์และผู้ลงทุนสถาบันที่มีศักยภาพ เพื่อทำหน้าที่ดูแลการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ให้มีสภาพคล่องอยู่เสมอ ทำให้ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศมั่นใจว่าจะสามารซื้อและขายอนุพันธ์ได้ตามต้องการ

4. การเผยแพร่ความรู้และการประชาสัมพันธ์ (education and public relations)
การเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอนุพันธ์เป็นมาตรการสำคัญที่ดำเนินการอย่าง โดย บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ทางการตลาดและประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้เข้าถึงผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นสถาบันและผู้ลงทุนทั่วไปรวมถึงการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับอนุพันธ์ผ่านทางกิจกรรม สัมมนา และการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

ตลาดอนุพันธ์

ธุรกรรมอนุพันธ์ในประเทศไทยได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยเป็นไปในลักษณะของการตกลงระหว่างคู่สัญญาด้วยกันเอง ซึ่งมักเป็นการตกลงของธนาคารพาณิชย์กับผู้ประกอบการที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน จากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ธุรกรรมเหล่านี้จึงมักจำกัดอยู่ภายในกลุ่มของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลกิจกรรม ที่ธนาคารพาณิชย์ในการเสนอบริการด้านอนุพันธ์

ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและมีผลบังคับใช้แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของตลาดทุนไทย ได้จัดตั้งบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Thailand Futures Exchange--TFEX ขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 โดยมีเงินทุนประกอบการเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรืออนุพันธ์ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โดยตลาดอนุพันธ์ได้รับใบอนุญาตประกอบการ เป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548

พัฒนาการที่สำคัญของตลาดอนุพันธ์
• 28 เมษายน 2549 เปิดดำเนินการซื้อขาย โดยมี SET50 Index Futures เป็นสินค้าตัวแรก
• 28 สิงหาคม 2549 เริ่มให้ซื้อขาย SET50 Index Futures ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
• 18 กันยายน 2549 แต่งตั้งผู้ดูแลสภาพคล่องสำหรับ SET50 Index Futures
• 9 เมษายน 2550 ลงนามบันทึกความร่วมมือกับตลาดอนุพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Futures Exchange--TAIFEX)
• 3 กันยายน 2550 เริ่มให้ซื้อขายผ่านช่องทาง Direct Market Access--DMA
• 29 ตุลาคม 2550 เปิดซื้อขาย SET50 Index Options เป็นสินค้าลำดับที่สอง
• 16 พฤษภาคม 2551 ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับ Chicago Board Options Exchange--CBOE
• 5 กันยายน 2551 ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับ The Options Industry Council --OIC
• 24 พฤศจิกายน 2551 เปิดซื้อขาย Stock Futures เป็นสินค้าลำดับที่สาม
• 2 กุมภาพันธ์ 2552 เปิดซื้อขาย Gold Futures เป็นสินค้าลำดับที่สี่

ลักษณะการดำเนินงาน
บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ เป็นศูนย์กลางการซื้อขายอนุพันธ์เกี่ยวกับตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ภายใต้พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยมีสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล สินค้าที่สามารถจัดให้มีการซื้อขายได้ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 คือ ฟิวเจอร์ส (futures) ออปชั่น (options) และออปชันบนสัญญาฟิวเจอร์ส (options on futures) ของสินทรัพย์อ้างอิงประเภทต่าง ๆ ได้แก่
- อ้างอิงกับตราสารทุน ได้แก่ ดัชนีราคาหลักทรัพย์ หลักทรัพย์
- อ้างอิงกับตราสารหนี้ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล อัตราดอกเบี้ย
- อ้างอิงกับราคาหรือดัชนีราคาอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ น้ำมันดิบ อัตราแลกเปลี่ยน

ตลาดอนุพันธ์มีเป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่าและประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- เป็นศูนย์กลางการซื้อขายอนุพันธ์ที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในธุรกิจสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง (hedging instruments) ในการบริหารเงินลงทุนและธุรกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่สมเหตุสมผล
- เป็นทางเลือกของการลงทุน ภายใต้ระบบการซื้อขายที่มีความยุติธรรม โปร่งใส และมีสภาพคล่อง รวมทั้งมั่นใจในระบบการชำระราคาสำหรับทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดอนุพันธ์ที่จะมีสำนักหักบัญชีที่มีความมั่นคงเป็นคู่สัญญา
- ให้ผู้ลงทุนมีแหล่งข้อมูลที่สะท้อนความคาดหวังของผู้ที่อยู่ในตลาดที่มีต่อราคาหลักทรัพย์ในอนาคต ส่งผลให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จรรยาบรรณของตลาดอนุพันธ์
เพื่อดำรงไว้ซึ่งความไว้วางใจของสาธารณชน บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ จึงกำหนดข้อพึงปฏิบัติไว้ให้กรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา พนักงานบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยึดถือเพื่อเป็นหลักการและคุณธรรมประจำใจในการปฏิบัติงาน โดยมีหัวข้อดังนี้
• ข้อพึงปฏิบัติทั่วไป
- ข้อพึงปฏิบัติต่อตนเอง
- ข้อพึงปฏิบัติต่อผู้ลงทุน ผู้ใช้บริการ ผู้เกี่ยวข้อง และสาธารณชน
- ข้อพึงปฏิบัติต่อองค์กร
• ข้อพึงปฏิบัติระหว่างพนักงาน
• ข้อพึงปฏิบัติเมื่อมีปัญหา

การวางแผนทางการเงิน

การวางแผนทางการเงินจำเป็นสำหรับการดำเนินงานด้านธุรกิจ ผู้จัดการทางการเงินมักวางแผนล่วงหน้าสำหรับด้านต่าง ๆ เช่น การซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต การส่งเสริมการจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มการขาย การเพิ่มบุคลากรของแผนกต่าง ๆ เพื่อการขยายงาน เป็นต้น การพยากรณ์เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการวางแผน ฝ่ายบริหารจะใช้การพยากรณ์เป็นตัวช่วยชี้ให้เห็นว่าแผนสำหรับอนาคตนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจหรือไม่ หรืออาจใช้การพยากรณ์เพื่อคาดคะเนปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นและจะเป็นหนทางเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วย ฝ่ายบริหารควรเขียนแผนงานที่จะปฏิบัติการในอนาคตไว้ในงบประมาณทางการเงิน เพราะงบประมาณเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้บริหาร เมื่อพูดถึงงบประมาณแล้วควรทราบว่างบประมาณคืออะไร งบประมาณเป็นแผนงานที่แสดงออกมาในรูปของตัวเงิน ซึ่งได้ผ่านการคิดพิจารณาและตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งในอนาคต เช่น งบประมาณเกี่ยวกับการลงทุนแสดงรายจ่ายเกี่ยวกับการจ่ายลงทุนตามโครงการต่าง ๆ ที่ได้วางแผนไว้สำหรับช่วงเวลาของงบประมาณนั้น และแสดงออกมาในรูปของการเคลื่อนไหวของเงินสดต่าง ๆ ของธุรกิจ และควรรวมถึงแหล่งเงินทุนที่วางแผนว่าจะได้รับในอนาคต และการใช้เงินทุนด้วย

วิธีการวางแผนงานและการจัดทำงบประมาณทางการเงิน สำหรับธุรกิจมี 2 ลักษณะคือ
1. Top-down management คือวิธีการวางแผนที่เริ่มจากคิดเป้าหมายรวมของธุรกิจในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผน แล้วจึงพิจารณาถึงกิจกรรมต่าง ๆ หรือกิจกรรมย่อยที่จะรวมกันเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ วิธีการนี้ ใช้มากในการวางแผนระยะยาว เช่น บริษัทหรือร้านค้าต้องการเพิ่มกำไรปีละ 20% ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องพิจารณาถึงรายได้ที่จะได้รับ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น แล้วนำเป้าหมายรายได้นั้นมากำหนดเป็นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นที่ต้องใช้ทั้งหมด ผลของวิธีการนี้ก็คือ งบประมาณหรือแผนงานทั้งหมดของธุรกิจซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจที่ได้กำหนดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น
2. Bottom-up management คือวิธีการวางแผนที่เริ่มต้นจากแต่ละแผนกหรือส่วนงานพยากรณ์แยกกันในการคาดคะเนประมาณส่วนประกอบของกิจกรรมต่าง ๆ ของธุรกิจ โดยคิดเป็นงบประมาณของแต่ละแผนก จากนั้นจึงจะนำมารวมเข้าด้วยกันเป็นแผนการทางการเงินรวมของธุรกิจ
ในธุรกิจขนาดใหญ่จะใช้วิธีการทั้ง 2 ลักษณะเข้าด้วยกัน คือฝ่ายบริหารจะกำหนดแผนงานหลักตามเป้าหมายของธุรกิจขึ้น ส่วนแผนกต่าง ๆ ก็ทำงบประมาณของแต่ละส่วนขึ้น แล้วจึงนำมารวมกันเข้าและเปรียบเทียบกับแผนงานหลักที่ได้กำหนดขึ้น
ในการควบคุมเกี่ยวกับงบประมาณหรือการเงินขององค์การ ต้องมีการจัดการโครงสร้างทางการเงินขององค์การหรือของธุรกิจ ซึ่งเป้าหมายหลักส่วนหนึ่งขององค์การคือการให้เกิดกำไรสูงสุด และการลดความเสี่ยงภัยของธุรกิจโดยกำหนดสัดส่วนของการถือสินทรัพย์ว่าควรอยู่ในรูปใด เช่น รูปของเงินสดการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการถือในรูปของหลักทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงในรูปพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ นอกจากนั้นควรมีการจัดโครงสร้างทางการเงินของธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนที่ธุรกิจต้องการใช้ การจัดสรรเงินทุนหมุนเวียน การลดหนี้ผูกพัน การยืดเวลาชำระหนี้ การจัดสรรลงทุนสินทรัพย์ที่มีให้เหมาะสมกับทุนขององค์การและเงื่อนเวลาที่จำกัด การกำหนดนโยบายการจ่ายปันผลให้สัมพันธ์กับสินทรัพย์และโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งวิธีการจัดการด้านการเงินเพื่อประโยชน์ในด้านการทำกำไรคือการควบคุมต้นทุนด้านต่าง ๆ อาทิ ต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยที่ทางฝ่ายการเงินหรืองบประมาณควรจัดทำระบบบัญชีและสามารถวิเคราะห์ต้นทุนด้านต่าง ๆ พร้อมเสนอวิธีการลดต้นทุนให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถมองเห็นภาพชัดเจนเพื่อพิจารณาได้ และมีการพยากรณ์ผลกำไรในอนาคต โดยต้องมีการวางแผนการขายการพยากรณ์ปริมาณที่จะขายได้ คาดคะเนค่าใช้จ่ายในอนาคต วางแผนการขยายงานในอนาคต เพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่าจะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงไร และต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างไรบ้าง หรือควรจะมีการตัดสินใจเพื่อการลงทุนในอนาคตอย่างไร

วัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการด้านการเงิน
วัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการด้านการเงินคือ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว (liquidity) และเพื่อประโยชน์ในด้านการทำกำไร (profitability)

วิธีการบริหารจัดการด้านการเงินเพื่อความคล่องตัว ควรดำเนินการในด้านต่อไปนี้
1. พยากรณ์การเคลื่อนไหวของเงินสด (forecasting cash flow) โดยมีการวางแผนทางการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้มั่นใจว่ามีเงินสดเพียงพอสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และการลงทุน ซึ่งหากไม่พอเพียงจะได้หาแหล่งกู้ยืมเงินขาดมืออันจะก่อความเสียหายให้แก่องค์การหรือธุรกิจได้
2. การจัดหาเงินทุน (raising funds) ฝ่ายบริหารเลือกแหล่งกู้ยืมเงินที่เสียค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด และมีโอกาสที่จะได้รับเงินสดได้ทันตามความต้องการ
3. การบริหารเงินทุนหมุนเวียน (working capital management) เป็นการจัดสรรว่าเงินสดที่มีหรือเงินทุนที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายในรอบระยะเวลาของการปฏิบัติงาน (operating cycle) ซึ่งอาจเป็นระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือตามฤดูกาล ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดและลักษณะของธุรกิจ ซึ่งการเคลื่อนไหวของเงินทุนหมุนเวียนโดยทั่วไปมี 2 ลักษณะคือการเคลื่อนไหวในรอบระยะเวลาของการปฏิบัติงานระยะสั้น (short cycle) และการเคลื่อนไหวในรอบระยะเวลาของการปฏิบัติงานระยะยาว (long cycle) หรือการกำหนดเวลาที่ผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวข้องจะพิจารณาให้ใกล้เคียงกับสภาพการณ์ที่ควรเป็นของธุรกิจ โดยพิจารณาว่าควรนำไปใช้ในด้านใดบ้างและในปริมาณเท่าใด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เป็นค่าใช้จ่ายด้านส่งเสริมการจัดจำหน่าย ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะหากต้องมีการเสียดอกเบี้ยจากการกู้ยืมมาควรพิจารณาว่ามีความจำเป็นมากหรือไม่ และต้องนำอัตราดอกเบี้ยมาคิดรวมเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งหากผลตอบแทนต่ำจะเป็นการลดอัตราส่วนผลกำไรของกิจการลงได้

การเคลื่อนย้ายเงินทุน

การที่ระบบการเงินจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องมีสถาบันต่าง ๆ มาอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยสถาบันเหล่านั้นคือกลไกที่อยู่ภายใต้ ระบบการเงิน (financial system) ที่เป็นกลไกสำคัญของการเคลื่อนย้ายเงินทุนรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทุกหน่วยในตลาดการเงินจะทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ (ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, หน้า 4) โดยสามารถสรุปได้ ดังแสดงในภาพ 1

จากภาพ 1 โครงสร้างของรูปแบบการเคลื่อนย้ายเงินทุน แสดงให้เห็นทางเลือกในการระดมเงินทุนของภาคเอกชนใน 3 ช่องทาง โดยแต่ละช่องทางจะมีความแตกต่างในเรื่องลักษณะการไหลของเงินทุนจากเจ้าของเงินทุนมาสู่ผู้ต้องการเงินทุน และกระบวนการ เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการที่ตรงกันจากทั้งสองฝ่าย อันจะทำให้การไหลของเงินทุนเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ อาจพิจารณาจากภาพได้ว่า ช่องทางที่ (1) และช่องทางที่ (3) เป็นลักษณะของการจัดหาเงินทุนทางตรง ในขณะที่ช่องทางที่ (2) เป็นการจัดหาเงินทุนในทางอ้อม โดยมีรายละเอียด คือ (ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, หน้า 5-7)

1. การระดมเงินทุนโดยตรงภายในกิจการ เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่าง ๆ ภายในกิจการเอง ซึ่งมิได้มีสถาบันใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ตามที่ได้อธิบายไปแล้วในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนภายในกิจการ โดยข้อเสียของการระดมทุนแบบนี้ คือ ปริมาณเงินทุนที่ระดมได้มักไม่มากนักและอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ ที่มาของเงินทุน ยังเป็นของเจ้าของกิจการเองในส่วนของกำไรสะสมที่กิจการเก็บสะสมไว้

2. การเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านระบบสถาบันการเงิน เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนทางอ้อม ซึ่งมีความสำคัญมากต่อระบบการเงินไทย คือ การระดมทุนโดยผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ หรือการกู้หรือการให้สินเชื่อ ซึ่งมีแนวคิดเบื้องต้นมาจากการต้องการแก้ไขปัญหา ของความต้องการที่ไม่ตรงกันในด้านการระดมทุน ระหว่างผู้มีเงินทุนส่วนเกิน และผู้ขาดแคลนเงินทุน โดยสถาบันการเงินสามารถลดปัญหาเรื่อง จำนวนเงินทุน อัตราผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุน และระยะเวลาการลงทุนของผู้มีเงินทุนต้องการที่ต่างจากปริมาณเงินทุน ดอกเบี้ย จ่ายคืนเงินกู้ยืม และระยะเวลาที่จะสามารถหาเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาใช้คืนให้แก่เจ้าของเงินทุนของผู้ขาดแคลนเงินทุน

ในกรณีที่หากไม่มีระบบการเงินมารองรับ ต้นทุนในการจัดหาเงินทุนภายใต้ปัญหาของความต้องการที่ไม่ตรงกันในด้านการระดมทุนดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีมูลค่าสูง ในที่สุดอาจจะไม่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระบบการเงินดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สถาบันการเงินจึงก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ระดมเงินออมจากผู้มีเงินทุนส่วนเกินในปัจจุบันจากทั้งระบบการเงิน โดยสัญญาว่าจะนำเงินทุนดังกล่าวมาคืนให้ในอนาคตพร้อมดอกเบี้ย แล้วนำเงินออมที่ระดมได้นั้นมาให้สินเชื่อแก่ธุรกิจในภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุนในปัจจุบัน และสัญญาที่จะจ่ายชำระคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยเต็มจำนวนในอนาคต เพื่อให้สถาบันการเงินจ่ายคืนให้แก่เจ้าของเงินทุน ส่วนผลตอบแทนที่สถาบันการเงินได้รับในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของการเคลื่อนย้ายเงินทุน คือ ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือที่นิยมเรียกว่า Spread

ข้อดีของการเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านระบบสถาบันการเงินนี้ คือ ผู้ขาดแคลนเงินทุนสามารถได้รับเงินทุนตามจำนวนที่ต้องการอย่างครบถ้วน ในเวลาที่เหมาะสมและไม่ยุ่งยากเกินไป แต่มีภาระค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันการเงินสูงเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้องยินดีให้สถาบันการเงินทำการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท ทั้งนี้การที่สถาบันการเงินพยายามที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนในปริมาณที่สูง ทำให้สถาบันการเงินต้องบริหารเงินทุน ภายใต้ความเสี่ยงทางการเงินและทางธุรกิจอย่างระมัดระวังและมีระดับที่เหมาะสม กับการดำเนินธุรกิจต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan--NPL) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี พ.ศ. 2540

3. การเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุนด้วยช่องทางนี้เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนทางตรง เพราะเป็นการเคลื่อนย้ายของเงินทุนโดยตรงจากเจ้าของเงินทุนสู่เจ้าของกิจการซึ่งต้องการเงินทุนในตลาดการเงิน โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน สิ่งสำคัญของการเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงินนี้ คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าตนเปรียบเสมือนผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดสินค้าทั่วไป แต่มีข้อแตกต่างในประเด็นที่ว่าสินค้าในที่นี้เป็นสินค้าทางการเงิน ที่แลกเปลี่ยนกันในตลาดการเงิน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งได้ว่า สินทรัพย์ทางการเงิน (financial asset)

ข้อดีของการเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงิน คือ ผู้ขาดแคลนเงินทุนสามารถระดมทุนได้ในปริมาณสูง และยังเป็นการทำธุรกรรมในระบบที่มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ภายใต้การกำกับและดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยตลาดการเงินทำหน้าที่สำคัญในการอำนวยความสะดวก และอาจเป็นสถานที่ (เชิงกายภาพ) หรือระบบที่เอื้ออำนวยให้ผู้ขาดแคลนเงินทุนและผู้มีเงินทุนส่วนเกินมาพบกันและแลกเปลี่ยนความต้องการซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ในระบบของตลาดการเงินยังสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทตราสารหรือสินทรัพย์ทางการเงินที่มีอยู่ในตลาดการเงิน หรือรูปแบบของการระดมทุน ซึ่งอาจแสดงภาพโดยรวมได้ ดังแสดงในภาพ 2

ตลาดการเงินในฐานะเป็นตัวกลางทางการเงินที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากเจ้าของเงินทุนสู่กิจการซึ่งต้องการเงินทุน โดยสามารถแบ่งตลาดการเงินประเภทต่าง ๆ ตามเกณฑ์อายุของสินทรัพย์ทางการเงินที่นำออกขายได้เป็นตลาดเงินและตลาดทุน (ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, หน้า 8)

ตลาดเงิน (money market) เป็นแหล่งระดมเงินออมระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) แล้วจัดสรรให้กู้ยืมแก่ผู้ต้องการเงินทุน ตลาดเงินยังอาจแยกออกเป็นตลาดเงินของทางการ และตลาดเงินของเอกชน ซึ่งตลาดเงินของทางการได้แก่ ตลาดเงินให้กู้ยืมปกติของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล (repurchase market) ส่วนตลาดเงินเอกชนประกอบด้วย การกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน และตลาดตราสารการพาณิชย์ สถาบันที่อยู่ในตลาดเงินได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และโรงรับจำนำ ส่วนตราสารทางการเงินประกอบด้วย ตั๋วสัญญาใช้เงิน (promissory notes) ตั๋วเงินคลัง (treasury bills) เป็นต้น โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล ตลาดเงินในประเทศไทยนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดในภาคการเงิน ทั้งนี้เพราะเป็นแหล่งที่ระดมเงินออมและให้สินเชื่อมากที่สุด

ตลาดทุน (capital market) เป็นแหล่งระดมเงินออมระยะยาว (เกินกว่า 1 ปี) เพื่อจัดสรรให้กับผู้ต้องการเงินทุนระยะยาว โดยเฉพาะภาคธุรกิจ สถาบันที่อยู่ในตลาดทุนได้แก่ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตราสารทางการเงินหรือหลักทรัพย์ในตลาดทุน ประกอบด้วย หุ้นสามัญ (ordinary shares) หุ้นบุริมสิทธิ (preferred shares) หุ้นกู้ (debentures) พันธบัตรรัฐบาล (government bond) หน่วยลงทุนของกองทุนรวม และใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrants) เป็นต้น หน่วยงานที่ดูแลตลาดทุนคือคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535



บรรณานุกรม
ที่มาภาพ
1. จาก ตลาดหุ้นในประเทศไทย (หน้า 5), โดย ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, กรุงเทพมหานคร: บุญศิริการพิมพ์.
2. จาก ตลาดหุ้นในประเทศไทย (หน้า 7), โดย ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, กรุงเทพมหานคร: บุญศิริการพิมพ์.

ที่มาข้อมูล
1. เกรียงศักดิ์ พรพนาวรรณ. (2550, หน้า 15-20). บทบาทตลาดหลักทรัพย์ต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัย, เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
2. ศุภชัย ศรีสุชาติ. (2547). ตลาดหุ้นในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: บุญศิริการพิมพ์.

Popular Posts