Custom Search

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตลาดทุน (Capital market)

“ตลาดทุน (Capital market)” เป็นแหล่งในการระดมเงินออมระยะยาว (เกิน 1 ปี) เพื่อทำการจัดสรรให้กับผู้ที่ต้องการเงินทุนระยะยาว นำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การขยายธุรกิจของผู้ประกอบกิจการเอกชน หรือการลงทุนในด้านการสาธารณูปโภคของภาครัฐบาล เป็นต้น โดยผู้ที่ต้องการระดมเงินทุนจะออกตราสารทางการเงิน หรือหลักทรัพย์ในตลาดทุน ซึ่งประกอบด้วย หุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ, หุ้นกู้, พันธบัตรรัฐบาล, หน่วยลงทุนของกองทุนรวม, หรือใบสำคัญแสดงสิทธิ เพื่อขายให้กับบุคคลภายนอก หรือประชาชนโดยทั่วไปใน “ตลาดแรก (Primary Market)”
โดยมี “ตลาดรองหรือตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ (Secondary or Trading Market)” เป็นแหล่งกลาง สำหรับการซื้อขายเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการจองซื้อในตลาดแรกมาแล้ว เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรกว่า เขาจะสามารถขายหลักทรัพย์นั้นเพื่อเปลี่ยนกลับคืนเป็นเงินสดได้เมื่อต้องการ

และ “ตลาดหลักทรัพย์ (Securities Market)” เป็นสถาบันหนึ่งในตลาดรอง ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมการระดมเงินออม และจัดสรรเงินทุนในตลาดทุน อันเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

วัตถุประสงค์สำหรับการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นครั้งแรก ในพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 คือเพื่อ

· จัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์

· ทำหน้าที่ส่งเสริมการออมทรัพย์และการระดมเงินทุนในประเทศ

· สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจ และอุตสาหกรรมภายในประเทศ

· ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ให้การซื้อขายหลักทรัพย์มีสภาพคล่อง อยู่ในระดับราคาที่สมเหตุสมผลเป็นไปอย่างมีระเบียบและยุติธรรม

· ให้ตลาดหลักทรัพย์มีสภาพเป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันเอกชน ดำเนินการโดยไม่นำผลกำไรมาแบ่งปันก
สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยได้แก่ :-

1. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand) ทำหน้าที่เป็นตลาดหุ้น หรือศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตัวตลาดหลักทรัพย์เองไม่ได้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรง หากแต่ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้การซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นไปอย่างมีระเบียบ คล่องตัวและยุติธรรม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน และก่อให้เกิดการระดมเงินออมจากประชาชนไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยส่วนรวม

2. บริษัทสมาชิก (Broker) ทำหน้าที่เป็นตัวแทน หรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป โดยบริษัทสมาชิกจะได้รับค่าธรรมเนียมเป็นการตอบแทน รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทสมาชิก จะได้กล่าวถึงในบทต่อไป

3. หลักทรัพย์จดทะเบียน (Listed Security) หมายถึง หลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัท เพื่อให้มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยทั้งหลักทรัพย์จดทะเบียนและบริษัทจดทะเบียนผู้ออกหลักทรัพย์นั้น จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด และเป็นไปตามข้อตกลงการจดทะเบียนหลักทรัพย์ (Listing Agreement) ประเภทของหลักทรัพย์จดทะเบียนสามารถแบ่งออกเป็น หุ้นสามัญ (Ordinary Share), หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Share), หุ้นกู้ (Debenture), หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture), พันธบัตร (Bond), หน่วยลงทุน (Unit Trust), ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน (Warrant), และใบสำคัญแสดงสิทธิระยะสั้น (Short - Term Warrant)

4. ผู้ลงทุน (Investor) จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนอาจเป็นประชาชนทั่วไปหรือนิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนในรูปของกำไรจากการซื้อขาย (ผู้ลงทุนระยะสั้น) หรือรวมทั้งดอกเบี้ยและเงินปันผลด้วย (ผู้ลงทุนระยะยาว)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts