MBA

We constantly research and disseminate knowledge to prepare graduate students to be leaders at the community, national and international levels.

Facebook is a social utility that connects people with friends and others who work, study and live around them. People use Facebook to keep up with friends

Custom Search

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทางเลือกของระบบการจัดการการผลิตและวัสดุคงคลัง

เราจะเห็นว่าระบบจุดการสั่งซื้อใหม่ (Reorder Point) หรือ ROP ระบบการวางแผนความต้องการวัสดุ (Material Requirement Planning) หรือ MRP และระบบทันเวลาพอดี หรือ JIT ต่างเป็นระบบจัดการการผลิตและวัสดุคงคลัง ซึ่งผู้บริหารต้องตัดสินใจเลือกเทคนิคที่เหมาะสมในการดำเนินงานของตน ดังนั้นหัวข้อนี้จะเปรียบเทียบระบบวัสดุคงคลัง เพื่อให้ผู้อ่านนำข้อดีและข้อเสียใช้ประกอบการตัดสินใจ ดังต่อไปนี้

6.8.1จุดการสั่งซื้อใหม่กับการวางแผนความต้องการวัสดุ (Reorder Point Versus Material Requirements Planning) ระบบ MRP จะมีความเหมาะสมกว่า ROP ในระบบการผลิตแบบแยกชิ้น (Discrete Item) ที่ผลิตและเก็บวัสดุคงคลัง โดยระบบ MRP จะได้เปรียบ ROP มากขึ้น ถ้ามีการสั่งซื้อวัตถุดิบที่หลากหลาย ทำให้การวางแผนมีความถูกต้องมากกว่า ROP แม้แต่จะนำระบบ MRP และ ROP มาเปรียบเทียบวัตถุดิบระดับเดียวกัน ระบบ MRP ก็มีประโยชน์มากกว่า เว้นแต่ขนาดการสั่งซื้อที่เล็กที่ มี BOM และความต้องการคงที่เท่านั้น

6.8.2 การวางแผนความต้องการวัสดุกับระบบทันเวลาพอดี (Material Requirement Planning Versus Just – in – time) การเลือกระหว่างระบบผลิตแบบผลัก กับระบบดึง เนื่องจากไม่มีระบบใดระบบหนึ่งดีที่สุด แต่ต้องดำเนินงานโดยผสมผสานจุดแข็งของแต่ละระบบ ระบบ MRP II เป็นระบบที่เหมาะสมสำหรับการวางแผนการจัดการวัตถุดิบรวม การจัดการข้อมูล MRP II เป็นข้อมูลที่ใช้สนับสนุนการบริหารงานในองค์การ แต่จะมีต้นทุนสูง ในทางตรงกันข้ามระบบ JIT เป็นระบบที่มีค่าใช้จ่ายน้อย แต่สามารถควบคุมการไหลเวียนของวัตถุดิบในโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบ Kanban ใช้สำหรับควบคุมวัสดุคงคลังให้อยู่ในระดับต่ำ และสามารถปรับเปลี่ยนอัตราการผลิตได้ตามเวลา
การเลือกระบบการควบคุมวัสดุต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น สายการผลิตที่ไม่มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ระบบ JIT จะสามารถใช้ได้ดี แม้ว่าเทคนิค MRP จะเหมาะสมกับตารางการผลิตในสัปดาห์ แต่ระดับปฏิบัติต้องรับผิดชอบในการผลิตรายวัน ซึ่งเป็นระบบดึง ทำให้ JIT เป็นประโยชน์มากกว่า MRP โดยเฉพาะในสถานภาพการผลิตที่ซ้ำๆ กัน แต่ตารางการผลิตหลากหลาย ระบบการผลิตแบบผสมผสานจะมีความเหมาะสมมากกว่าระบบ MRP ใช้สำหรับแก้ไขเมื่อตารางการผลิตเปลี่ยนแปลง หรือใช้สำหรับประสานกับผู้ขายวัตถุดิบ สำหรับเวลาทำที่ยาว ขณะที่วิธีการดึงใช้สำหรับการไหลเวียนของวัตถุดิบในโรงงาน เช่น Synchro MRP, Rate based MRP II และ JIT-MRP เป็นต้น
ระบบ ROP, MRP และ JIT สามารถใช้ได้ดีภายใต้บางสถานการณ์ ดังนั้นการตัดสินใจเลือกใช้ระบบใดจะมีผลต่อระดับสินค้าคงคลังและความพอใจของลูกค้า ปริมาณวัสดุคงคลังที่มากเกินไป จะมีผลกระทบต่อการบริหารการเงิน และการเติบโตของบริษัท การบริการลูกค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพจะส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งตลาด และถือเป็นความผิดพลาดที่มีราคาแพง ซึ่ง Ritzman, King และ Krajewski (1984) ได้ศึกษาปัจจัยการผลิตที่มีผลกระทบต่อสินค้าคงคลัง ผลิตภาพ และการบริการลูกค้า โดยการศึกษา พบว่า การลดขนาดการผลิตและระยเวลาเริ่มดำเนินงานเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ และความยืดหยุ่นในการทำงานช่วงประยุกต์ให้กับทุกระบบ

การประยุกต์ระบบ JIT เชิงกลยุทธ์

ระบบ JIT เหมาะสมกับกลยุทธ์การดำเนินงานที่ต้องการปรับปรุงอัตราการหมุนเวียนของวัสดุคงคลัง และผลิตภาพของแรงงาน เนื่องจากระบบของ JIT จะให้ความสำคัญกับการลดวงจรวัสดุคงคลัง การปรับปรุงอัตราการหมุนเวียนของวัสดุคงคลัง และการเพิ่มผลผลิตของแรงงาน ซึ่งจะพิจารณาถึงการประยุกต์ระบบ JIT เชิงกลยุทธ์ ดังต่อไปนี้

6.6.1 ลำดับความสำคัญในการแข่งขัน (Competitive Priorities) ระบบ JIT จะให้ความสำคัญกับต้นทุนที่ต่ำและคุณภาพที่คงที่ โดยออกแบบระบบให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และความยืดหยุ่นในกระบวนการผลิต แต่ระบบการผลิตที่เฉพาะเจาะจงตามความต้องการของลูกค้าจะไม่เหมาะสมกับระบบ JIT

6.6.2 กลยุทธ์การกำหนดตำแหน่ง (Positioning Strategy) ระบบ JIT จะเป็นระบบการผลิตแบบให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ โดยจัดคนงานและเครื่องจักรให้อยู่รอบๆ การไหลของผลิตภัณฑ์ และจัดให้เหมาะสมกับลำดับการดำเนินงานในสายการผลิต เมื่องานเสร็จจากสถานีหนึ่งจะถูกส่งต่อไปยังสถานีต่อไปในทันที ซึ่งจะลดเวลารอคอยและวัสดุคงคลังของโรงงาน นอกจากนี้ กระบวนการที่ทำซ้ำจะช่วยให้มองเห็นปัญหาและโอกาสในการปรับปรุงวิธีการทำงานอย่างชัดเจน

6.6.3 ประโยชน์ในการดำเนินการ (Operational Benefits) ระบบ JIT มีประโยชน์ในการดำเนินการ คือ ลดความต้องการพื้นที่ลง, ลดการลงทุนในวัตถุดิบและวัสดุคงคลัง โดยเฉพาะการจัดซื้อวัตถุดิบอะไหล่ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูป, ลดช่วงเวลารอคอยในกระบวนการผลิต
เพิ่มผลิตภาพการผลิตของแรงงานทั้งทางตรง และทางอ้อม, เพิ่มปริมาณการใช้งานเครื่องจักรให้เต็มที่, ต้องการเพียงระบบวางแผนง่ายๆ และช่วยลดงานเอกสาร, จัดลำดับความสำคัญของตารางการผลิต, สนับสนุนให้บุคลากรมีส่วนร่วม และเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์

ระบบ JIT มิได้เกี่ยวข้องแต่การดำเนินงานในระดับปฏิบัติการเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจระดับกลยุทธ์ขององค์การ ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดของระบบการผลิตในปัจจุบันเปรียบเทียบกับการพัฒนาระบบให้เป็น JIT โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้และผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นประการสำคัญผู้บริหารต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานและข้อจำกัดของระบบอย่างชัดเจนก่อนการดำเนินงาน

ระบบ JIT กับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


ระบบ JIT เป็นระบบการดำเนินงานที่นำมาใช้ เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพงานโดยมุ่งเน้นการเลื่อนไหลของระบบงาน โดยไม่ให้เกิดการสะดุดของระบบงาน ตลอดจนลดข้อบกพร่องและของเสียลง หรือให้มีวัสดุคงคลังน้อยที่สุดหรือให้เท่ากับศูนย์ “การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)” เป็นเทคนิคที่สามารถดำเนินงานคู่กับ JIT เพื่อหาข้อบกพร่องในกระบวนการผลิตหรือคุณภาพของผลลัพธ์ เพื่อทำการแก้ไขและปรับปรุง โดยทั้งพนักงาน หัวหน้างาน วิศวกรรม และผู้จัดการต้องช่วยกัน เพื่อให้ระบบ JIT มีความสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์การ โดยที่เราสามารถประยุกต์เทคนิคการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและ JIT ในการดำเนินงาน ต่อไปนี้
6.2.1 ระบบการผลิต นำเทคนิคการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาประยุกต์ ดังต่อไปนี้
- ขจัดปัญหาของเสียที่เกิดขึ้น โดยการปรับปรุงคุณภาพการทำงาน การพัฒนาคุณภาพบุคลากร และการปรับปรุงคุณภาพของวัตถุดิบและระบบการจัดส่งของผู้ขายวัตถุดิบ
- ลดความไม่แน่นอนในการจัดซื้อวัตถุดิบ โดยการประสานงานกับผู้ขายวัตถุดิบหรือเปลี่ยนผู้ขายวัตถุดิบรายใหม่ หรือปรับรูปแบบการจัดส่งให้เหมาะสมหับการใช้งาน
- ลดวัสดุคงคลังให้อยู่ในระดับต่ำ โดยพยายามมองหาข้อบกพร่อง และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม
6.2.2 ระบบบริการ ประกอบด้วยทั้งระบบการผลิตและงานให้บริการ ซึ่งจะครอบคลุมการจัดตารางการปฏิบัติงาน การรับใบสั่งสินค้า งานบัญชีและการเงิน และการออกใบเสร็จ โดยที่ให้พนักงานและผู้บริหารพยายามช่วยกันค้นหาหนทางอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาระบบงาน เช่น ลดจำนวนคนงานลงจนกระทั่งถึงจุดที่ทำให้การงานล่าช้าลงหรือหยุดชะงัก เพื่อค้นหาปริมาณคนและขนาดของงานที่เหมาะสม เป็นต้น โดยที่เราจะกล่าวถึงระบบ JIT กับการบริการในหัวข้อต่อไปนี้

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ตลาดในระบบเศรษฐกิจ

ตลาดในระบบเศรษฐกิจนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยทำให้สินค้าจากแหล่งผลิตไปสู่ผู้บริโภค และยังช่วยให้ผู้บริโภคมีสินค้าและบริการมาบำบัดความต้องการได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในบทนี้ จะศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดในทางเศรษฐศาสตร์

ความหมายของตลาดในทางเศรษฐศาสตร์
ตลาด หมายถึง การซื้อขายสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งหรือภาวะการณ์ในการซื้อขายสินค้านั้นๆ ซึ่งก็หมายถึงว่า การซื้อขายไม่จำเป็นต้องมีตลาดเป็นตัวตน ผู้ซื้อและผู้ขายไม่จำเป็นต้องมาพบกัน เพียงแต่ใช้เครื่องมือสื่อสารตกลงกัน

หน้าที่ของการตลาด
การตลาด ซึ่งรวมถึงการรับเสี่ยงภัยและการขนส่ง ย่อมมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในฐานะเป็นขั้นหนึ่งของกระบวนการผลิต ทั้งนี้ก็เพราะ การผลิต ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นถือว่าจะมีผลผลิต ก็ต่อเมื่อสินค้าได้ถึงมือผู้บริโภคแล้ว เท่านั้น จึงพอสรุปหน้าที่ได้ ดังนี้
• แสวงหาอุปสงค์และคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับอุปสงค์
• เสริมสร้างให้เกิดอุปสงค์
• สนองความต้องการอุปสงค์

ลักษณะตลาดในระบบเศรษฐกิจ
ถ้าแบ่งตลาดในทางเศรษฐกิจออกตามลักษณะของการแข่งขันอาจแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ และตลาดที่มีการเข่งขันไม่สมบูรณ์
• ตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ ลักษณะเด่นของตลาดแบบนี้ คือ

ผู้ชื้อและผู้ขายมีจำนวนมาก
สินค้าที่ซื้อขายมีลักษณะคุณภาพมาตรฐานใกล้เคียงกันมาก
การติดต่อซื้อขายจะต้องกระทำได้โดยสะดวก
หน่วยธุรกิจสามารถเข้าหรือออกจากธุรกิจการค้าได้โดยง่าย
การเคลื่อนย้ายสินค้าและปัจจัยการผลิต จะต้องกระทำได้อย่างสมบูรณ์
• ตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์ การพิจารณาลักษณะตลาดแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์เราอาจแยกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ ด้านผู้ขายและด้านผู้ซื้อ ดังต่อไปนี้

ทางด้านผู้ขาย
ตลาดกึงแข่งขันกึงผูกขาด มีผู้ขายและสินค้าจำนวนมาก สินค้าที่ขายมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่ไม่สามารถทำให้แตกต่างกันได้
ตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย โดยทั่วไปจะมีผู้ขายเพียง 3-5 รายในตลาดเท่านั้น ส่วนใหญ่มักเป็นพวกอุตสาหกรรมหนัก
ตลาดที่มีการผูกขาดด้านการขายที่แท้จริง คือตลาดที่มีผู้ขายเพียงรายเดียว ผู้ขายจะมีอิทธิพลเหนือราคา
ทางด้านผู้ซื้อ

ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด ตลาดประเภทนี้มีผู้ซื้อจำนวนมากแต่ผู้ขายพอใจขายให้แก่ผู้ซื้อบางคนเท่านั้น จึงมีทางควบคุมราคาได้บ้าง
ตลาดที่มีผู้ซื้อน้อยราคา คือ ตลาดที่มีผู้ซื้อน้อยมาก ถ้าผู้ซื้อคนใดเปลี่ยนแปลงปริมาณซ้อจะมีผลกระทบกระเทือนราคาตลาดและผู้ซื้อคนอื่น ๆ ด้วย
ตลาดผูกขาดที่แท้จริงทางด้านผู้ซื้อ เป็นตลาดที่มีผู้ซื้อเพียงคนเดียวผู้ซื้อจึงอยู่ในฐานะเกี่ยงราคาได้ และในที่สุดก็สามารถที่จะกำหนดราคาสินค้าเองได้

Buyer’s Market


ตลาดของผู้ซื้อ คืออะไร
ตลาดของผู้ซื้อ (Buyer’s Market) คือ ตลาดที่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคมีเสรีภาพและโอกาสในการเลือกซื้อมากขึ้น ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อมีความได้เปรียบเหนือผู้ขาย ทำให้ธุรกิจต้องคอยตอบสนองความพอใจให้แก่ลูกค้าหรือผู้บริโภคสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ในสังคมปัจจุบันช่วงที่เราเห็นอยู่นี้ ในขณะที่ผู้บริโภคจัดหาสินค้าและบริการมาใช้ตอบสนองความต้องการนั้น ผู้บริโภคมิได้มีอำนาจเต็มที่ที่จะเลือกซื้อได้ตามใจชอบ เพราะเหตุที่ต้องขึ้นอยู่กับการผลิตและการเสนอของผู้ขายและความเป็นไปของสภาวะเศรษฐกิจหรือเงื่อนไข ข้อจำกัดของทรัพยากรการผลิตต่างๆ แต่กระนั้นก็ดีผู้บริโภคยังมีสิทธิที่จะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อได้เสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้บริโภคยังคงมีอำนาจที่จะต่อต้านหรือละเว้นไม่ซื้อสินค้าและบริการที่ผู้ผลิตเสนอขายให้ ในกรณีที่ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อมากขึ้น ทำให้ตลาดต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อมากกว่าผู้ขายก็จะกลายเป็นตลาดของผู้ซื้อไป
ในสภาพของระบบเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการเกี่ยวกับการผลิตเช่นนี้ การผลิตสินค้าต่างๆย่อมสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้สินค้าที่เสนอมีมากขึ้นยิ่งมีส่วนทำให้ตลาดของสินค้านั้นเป็นตลาดของผู้ซื้อได้มากขึ้น เพราะผู้ซื้อมีทางเลือกในการเลือกซื้อมากขึ้น ถ้าสินค้าใครไม่ดีก็ไม่ต้องซื้อ เพราะแน่นอนว่ายังมีผู้เสนอขายคนอื่นมาให้เลือกซื้ออีก ผู้ขายจะกลายเป็นผู้ที่เสียเปรียบถ้าไม่สามารถสนองตอบความต้องการของผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็นทางด้านคุณสมบัติของสินค้าเอง ราคา หรือแม้แต่สมนาคุณพิเศษ หากผู้ซื้อเห็นว่าไม่ได้รับความพอใจสูงสุดก็จะไปหาซื้อจากคนอื่นแทน ดังนั้นการแข่งขันทางการค้าระหว่างผู้ขายที่มีมากรายเอง ก็ทำให้ตลาดสินค้านั้นๆ กลายเป็นตลาดของผู้ซื้อไปด้วย


ทำอย่างไรถึงจะขายได้ ในเมื่อตลาดกลายเป็นของผู้ซื้อไปแล้ว
เมื่อตลาดกลายเป็นของผู้ซื้อไป ผู้ซื้อมีความได้เปรียบมีอำนาจต่อรองมากกว่าผู้ขาย หากต้องการขายสินค้าให้ได้ต้องสนองความพอใจหรือความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นก็ขายสินค้าของตัวเองไม่ได้ วิธีการสนองตอบความพอใจของผู้บริโภคในปัจจุบันทำกันหลายวิธีเช่น
- ลด แลก แจก แถม เป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย การลดราคาเป็นวิธีการจูงใจอันดับต้นๆ เพราะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตนเองซื้อของถูกลง การแลก แจก แถม ก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตนเองได้อะไรมากขึ้น สร้างความพอใจได้เพิ่มขึ้น
- สร้างความแตกต่างให้สินค้าตนเอง เหมือนเป็นการสร้างตลาดใหม่ไปเลย เมื่อสินค้าของตนแตกต่างจากเจ้าอื่นจะเป็นการลดทางเลือกของผู้ซื้อลงเพราะเจ้าอื่นไม่มีขาย สินค้าแบบเดียวกับของตน

human resource information system

ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล (human resource information system) หรือ HRIS หรือระบบสานสนเทศสำหรับบริหารงานบุคคล (personnel information system) หรือ PIS เป็นระบบสารสนเทศที่ถูกพัฒนาให้สนับสนุนการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่การวางแผน การจ้างงาน การพัฒนาและการฝึกอบรม ค่าจ้างเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย ช่วยให้การบริหารทรัพยากรบุคคลเกิดประสิทธิภาพ โดยที่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคลจะมีดังนี้

1. ข้อมูลบุคลากร เป็นข้อมูลของสมาชิกแต่ละคนขององค์การ ซึ่งประกอบด้วยประวัติเงินเดือนและ สวัสดิการ เป็นต้น

2. ผังองค์การ แสดงโครงสร้างองค์การ การจัดหน่วยงานและแผนกำลังคน ซึ่งแสดงทั้งปริมาณและการจัดสรรทรัพยากรบุคคล

3. ข้อมูลจากภายนอก ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลมิใช่ระบบปิดที่ควบคุมและดูแลสมาชิกภายในองค์การเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งต้องการข้อมูลจากภายนอกองค์การ เช่น การสำรวจเงินเดือน อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น

การจัดการทรัพยากรบุคคลเป็นงานสำคัญที่มิใช่เพียงแต่การปฏิบัติงานประจำวันที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลบุคลากรและค่าจ้างแรงงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นการดำเนินงานเชิงรุก (proactive) การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานช่วยให้งานทรัพยากรบุคคลมีประสิทธิภาพขึ้น โดยที่การพัฒนาระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคลต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้

1. ความสามารถ (capability) หมายถึงความพร้อมขององค์การและบุคคลในการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยต้องพิจารณาความสามารถของบุคลากร 3 กลุ่มคือ

ผู้บริหารระดับสูงต้องพร้อมที่จะสนับสนุนด้านนโยบาย กำลังคน กำลังเงิน และวัสดุอุปกรณ์ในการพัฒนาระบบสารสนเทศขององค์การ

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ เพื่อให้การทำงานในหน่วยงานมีความคล่องตัวขึ้น

ฝ่ายสารสนเทศที่ต้องทำความเข้าใจและออกแบบระบบงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ในแต่ละกลุ่ม

2. การควบคุม (control) การพัฒนา HRIS จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสารสนเทศโดยเฉพาะการเข้าถึงและความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลด้านทรัยพากรบุคคลจะเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งจะมีผลต่อชื่อเสียงและผลได้-ผลเสียของบุคคล จึงต้องมีการจัดระบบการเข้าถึงและจัดการข้อมูลที่รัดกุม โดยอนุญาตให้ผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในแต่ละหน่วยงานสามารถเข้าถึงและปรับปรุงสารสนเทศในส่วนงานของตนเท่านั้น

3. ต้นทุน (cost) ปกติการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลจะมีต้นทุนที่สูง ขณะเดียวกันก็จะไม่เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงขององค์การทั้งในด้านการขยายตัวและหดตัวซึ่งจะมีผลกระทบต่อบุคลากร ดังนั้นฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคลสมควรมีข้อมูลที่เหมาะสมในการตัดสินใจ เป็นต้น ขณะเดียวกัน การลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งฝ่ายบริหารสมควรต้องพิจารณาผลตอบแทนที่ได้รับจากการพัฒนาระบบว่าคุ้มค่ากับต้นทุนที่ใช้ไปหรือไม่

4. การติดต่อสื่อสาร (communication) หมายถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศต้องศึกษาการไหลเวียนของสารสนเทศ (inforamtion flow) ภายในองค์การและความสัมพันธ์ระหว่างองค์การกับสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนเตรียมการในการสื่อสารข้อมูล เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ เกิดความเข้าใจและทัศนคติที่ดีกับการนำระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้

5. ความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) ปัจจุบันการพัฒนา HRIS ไม่เพียงแต่ช่วยให้การดำเนินงานขององค์การมีประสิทธิภาพขึ้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างศักยภาพและความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจ

ปัจจุบันเราต่างยอมรับว่า คนเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ แต่ทรัพยากรบุคคลเป็นทรัพยากรมีค่าใช้จ่ายสูงที่ธุรกิจต้องรับภาระทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เงินเดือน สวัสดิการ และข้อมูลผูกพันในสัญญาจ้างงาน HRIS เป็นระบบสารสนเทศที่นำเสนอข้อมูลการตัดสินใจซึ่งเกิดประโยชน์แก่องค์การและสมาชิกแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับงานด้านทรัพยากรบุคคลอย่างถูกต้องขึ้น

การวางแผนความต้องการวัสดุ

การบริหารทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะวัตถุดิบ (raw materials) เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการด้านการดำเนินงานการผลิต ถ้าธุรกิจมีปริมาณวัตถุดิบมากเกินไปจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูง แต่ถ้ามีปริมาณวัตถุดิบน้อยเกินไปก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อแผนและกระบวนการผลิต ตลอดจนก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ การวางแผนความต้องการวัสดุ (material requirement planning) หรือที่เรียกว่า MRP เป็นระบบสารสนเทศที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบการผลิต เพื่อประกอบการวางแผนความต้องการวัสดุเพื่อให้ธุรกิจสามารถจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ โดย MRP ให้ความสำคัญกับสิ่งต่อไปนี้

1. ไม่เก็บวัตถุดิบเพื่อรอการใช้งานไว้นานเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและความเสี่ยงในการสูญหายหรือสูญเสีย

2. รายงานผลการผลิตและความเสียหายที่เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนด

3. ควบคุมสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบ

4. มีการตรวจสอบ แก้ไข และติดตามผลข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น

โดยที่ MRP มีบทบาทต่อระบบการผลิตขององค์การตั้งแต่การจัดหาวัสดุ เพื่อทำการผลิตโดยการกำหนดปริมาณและระยะเวลาในการสั่งที่ประหยัดค่าใช้จ่าย ตลอดจนจัดเตรียมรายละเอียดของการผลิตในอนาคตซึ่งเราสามารถสรุปว่า MRP มีข้อดีดังต่อไปนี้

1. ลดการขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิต

2. ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง

3. ช่วยให้บุคลากรมีเวลาในการปฏิบัติงานอื่นมากขึ้น

4. ประหยัดแรงงาน เวลา และค่าใช้จ่ายในการติดตามวัตถุดิบ

5. ช่วยให้องค์การสามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นอกจากระบบ MRP แล้ว ได้มีผู้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการดำเนินงาน เช่น การจัดการคุณภาพโดยรวม (total quality management) หรือที่เรียกว่า TQM และการผลิตแบบทันเวลาพอดี (just-in-time production) หรือที่เรียกว่า JIT เพื่อให้ได้การผลิตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น ซึ่งต่างต้องอาศัยระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ เกี่ยวข้องกับผู้ขายวัตถุดิบ (supplier) และลูกค้าภายนอกองค์การ ตลอดจนบุคลากรต้องมีความรู้และความสามารถในการใช้งานระบบสารสนเทศด้านการผลิตขององค์การอย่างเต็มที่

production and operations information system

ระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน (production and operations information system)

การผลิต (production) เป็นกระบวนการแปรรูปทรัพยากรการผลิต เช่น วัตถุดิบ แรงงาน และ พลังงาน ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมในการจัดจำหน่ายแก่ลูกค้า โดยผู้ผลิตต้องพยากรณ์ปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า โดยไม่ให้มีจำนวนมากหรือน้อยจนเกินไป ตลอดจนควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ปัจจุบันการขยายตัวของธุรกิจจากการผลิตเข้าสู่สังคมบริการ ทำให้มีการประยุกต์หลักการของการจัดการผลิตกับงานด้านบริการ ซึ่งเราจะเรียกการผลิตในหน่วยบริการว่า “ การดำเนินงาน (operations)” โดยที่แหล่งข้อมูลในการผลิตและการดำเนินงานขององค์การมีดังต่อไปนี้

1. ข้อมูลการผลิต/การดำเนินงาน (production/operations data) เป็นข้อมูลจากกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ ซึ่งจะแสดงภาพปัจจุบันของระบบการผลิตของธุรกิจว่ามีประสทธิภาพมากน้อยเพียงใด และมีปัญหาอย่างไรในการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนในการแก้ปัญหาและการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานในอนาคต

2. ข้อมูลสินค้าคงคลัง (inventory data) บันทึกปริมาณวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่เก็บไว้ในโกดัง โดยผู้จัดการต้องพยายามจัดให้มีสินค้าคงคลังในปริมาณไม่เกินความจำเป็นหรือขาดแคลนเมื่อเกิดความต้องการขึ้น

3. ข้อมูลจากผู้ขายวัตถุดิบ (supplier data) เป็นข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ คุณสมบัติ และราคาวัตถุดิบ ตลอดจนช่วงทางและต้นทุนในการลำเลียงวัตถุดิบ ปัจจุบันการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (electronic data interchange) หรือที่เรียกว่า EDI ช่วยให้การประสานงานระหว่างผู้ขายวัตถุดิบ ธุรกิจ และลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. ข้อมูลแรงงานและบุคลากร (labor force and personnel data) ข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานในสายการผลิตและปฏิบัติการ เช่น อายุ การศึกษา และประสบการณ์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดบุคลากรให้สอดคล้องกับงาน ขณะที่ข้อมูลภายนอกเกี่ยวกับตลาดแรงงานจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนและจัดหาแรงงานทดแทน และการกำหนดอัตราค่าจ้างอย่างเหมาะสม

5. กลยุทธ์องค์การ (corporate strategy) แผนกลยุทธ์ขององค์การจะเป็นแม่บทและแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์การผลิตแลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ

การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานขององค์การ นอกจากจะส่งผลต่อการพัฒนาผลิตผล (productivity) ของธุรกิจ โดยเฉพาะการปฏิบัติ ตั้งแต่การตัดสินใจเกี่ยวกับการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การควบคุมสินค้าคงคลัง การวางแผนคุณภาพ การเพิ่มผลผลิต และการควบคุมต้นทุนขององค์การให้มีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้ระบบอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตแล้ว ยังส่งผลต่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงานและการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมโดยทางตรงและทางอ้อม

สารสนเทศด้านการตลาดอาจจะมีความแตกต่างกันตามประเภทของธุรกิจ

สารสนเทศด้านการตลาดอาจจะมีความแตกต่างกันตามประเภทของธุรกิจ ซึ่งเราสามารถจำแนกระบบย่อยของระบบสารสนเทศด้านการตลาดได้ดังต่อไปนี้

1. ระบบสารสนเทศสำหรับการขาย สามารถแบ่งออกเป็นระบบย่อย 3 ระบบดังต่อไปนี้

ระบบสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการขาย จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายขาย เพื่อให้การขายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลที่ระบบต้องการจะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะทำการขาย รูปแบบ ราคา และการโฆษณาต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า นอกจากนี้อาจเกี่ยวกับช่องทางและวิธีการขายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า ตลอดจนคู่แข่งของผลิตภัณฑ์ที่จะขายและจำหน่ายสินค้าคงคลังของบริษัท

ระบบสารสนเทศสำหรับวิเคราะห์การขาย จะรวบรวมสารสนเทศในเรื่องของกำไรหรือขาดทุนของผลิตภัณฑ์ ความสามารถของพนักงานขายสินค้า ยอดขายของแต่ละเขตการขาย รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของสินค้า ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จากรายงานต่าง ๆ เช่น รายงานการขาย รายงานของต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบ เป็นต้น

ระบบสารสนเทศสำหรับการวิเคราะห์ลูกค้า จะช่วยในการวิเคราะห์ลูกค้าเพื่อให้ทราบถึงรูปแบบของการซื้อและประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ เพื่อที่ธุรกิจจะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
2. ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยตลาด สามารถแบ่งออกเป็นระบบย่อยตามหน้าที่ได้ 2 ระบบ ดังต่อไปนี้

ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยลูกค้า การวิจัยลูกค้าจะต่างกับการวิเคราะห์ลูกค้าตรงที่ว่าการวิจัยลูกค้าจะมีขอบเขตของการใช้สารสนเทศกว้างกว่าการวิเคราะห์ลูกค้า โดยการวิจัยลูกค้าจะต้องการทราบสารสนเทศที่เกี่ยวกับลูกค้าในด้านสถานะทางการเงิน การดำเนินธุรกิจ ความพอใจ รสนิยมและพฤติกรรมการบริโภค

ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยตลาด การวิจัยตลาดจะให้ความสำคัญกับการหาขนาดของตลาดของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่จะนำออกจำหน่าย ซึ่งอาจครอบคลุมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลังจากนั้นก็จะกำหนดส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์เพื่อทำการวางแผน กำหนดเป้าหมาย กำหนดกลยุทธ์และวางแผนกลยุทธ์ สารสนเทศที่เป็นที่ต้องการของการวิจัยตลาดคือสภาวะและแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ยอดขายในอดีตของอุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในตลาด รวมทั้งสภาวะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์นี้ด้วย
3. ระบบสารสนเทศสำหรับการส่งเสริมการขาย เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับแผนงานทางด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขาย เพิ่มยอดขายสินค้า และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สูงขึ้น สารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือยอดขายของสินค้าทุกชนิดในบริษัท เพื่อให้รู้ว่าสินค้าใดต้องการแผนการส่งเสริมการขาย และสารสนเทศที่เกี่ยวกับผลกำไรหรือขาดทุนของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อให้ความสำคัญกับสินค้าตัวที่ทำกำไร

4. ระบบสารสนเทศสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เป็นระบบสารสนเทศที่วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ลักษณะและความต้องการของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าแต่ยังไม่มีตลาด โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการของระบบได้แก่ ยอดขายของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในอดีต เพื่อให้ทราบถึงขนาดและลักษณะของตลาด และการประมาณการต้นทุน เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าสมควรที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่

5. ระบบสารสนเทศสำหรับพยากรณ์การขาย เป็นระบบที่ใช้ในการวางแผนการขาย แผนการทำกำไรจากสินค้าหรือบริการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของบริษัท ซึ่งจะส่งผลไปถึงการวางแผนการผลิต การวางกำลังคน และงบประมาณที่จะใช้เกี่ยวกับการขาย โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือ ยอดขายในอดีต สถานะของคู่แข่งขัน สภาวการณ์ของตลาด และแผนการโฆษณา

6. ระบบสารสนเทศสำหรับการวางแผนกำไร เป็นระบบสารสนเทศที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนทำกำไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของธุรกิจ โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือสารสนเทศจากการวิจัยตลาด ยอดขายในอดีต สารสนเทศของคู่แข่งขัน การพยากรณ์การขาย และการโฆษณา

7. ระบบสารสนเทศสำหรับการกำหนดราคา การกำหนดราคาของสินค้านับว่าเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งทางการตลาด เพราะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า คู่แข่งขัน กำลังซื้อของลูกค้า โดยปกติแล้วราคาสินค้าจะตั้งจากราคาต้นทุนรวมกับร้อยละของกำไรที่ต้องการ โดยสารสนเทศที่ต้องการได้แก่ ตัวเลขกำไรของผลิตภัณฑ์ในอดีต เพื่อทำการปรับปรุงราคาให้ได้สัดส่วนของกำไรคงเดิม ในกรณีที่ต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลง

8. ระบบสารสนเทศสำหรับการควบคุมค่าใช้จ่าย บุคคลที่เป็นผู้ควบคุมค่าใช้จ่ายสามารถควบคุมได้โดยดูจากรายงานของผลการทำกำไรกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงหรือสาเหตุของการคลาดเคลื่อนของค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขายรวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ค่าโฆษณา ค่าส่วนแบ่งการขาย เป็นต้น

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการขยายโอกาสและเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้า ซึ่งทำให้นักการตลาดสมัยใหม่ต้องสามารถประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อก่อให้เกิดโอกาสและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันแก่องค์การ ซึ่งจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพของตน

Popular Posts