Custom Search

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ตลาดอนุพันธ์

ธุรกรรมอนุพันธ์ในประเทศไทยได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยเป็นไปในลักษณะของการตกลงระหว่างคู่สัญญาด้วยกันเอง ซึ่งมักเป็นการตกลงของธนาคารพาณิชย์กับผู้ประกอบการที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน จากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ธุรกรรมเหล่านี้จึงมักจำกัดอยู่ภายในกลุ่มของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลกิจกรรม ที่ธนาคารพาณิชย์ในการเสนอบริการด้านอนุพันธ์

ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและมีผลบังคับใช้แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของตลาดทุนไทย ได้จัดตั้งบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Thailand Futures Exchange--TFEX ขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 โดยมีเงินทุนประกอบการเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรืออนุพันธ์ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โดยตลาดอนุพันธ์ได้รับใบอนุญาตประกอบการ เป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548

พัฒนาการที่สำคัญของตลาดอนุพันธ์
• 28 เมษายน 2549 เปิดดำเนินการซื้อขาย โดยมี SET50 Index Futures เป็นสินค้าตัวแรก
• 28 สิงหาคม 2549 เริ่มให้ซื้อขาย SET50 Index Futures ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
• 18 กันยายน 2549 แต่งตั้งผู้ดูแลสภาพคล่องสำหรับ SET50 Index Futures
• 9 เมษายน 2550 ลงนามบันทึกความร่วมมือกับตลาดอนุพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Futures Exchange--TAIFEX)
• 3 กันยายน 2550 เริ่มให้ซื้อขายผ่านช่องทาง Direct Market Access--DMA
• 29 ตุลาคม 2550 เปิดซื้อขาย SET50 Index Options เป็นสินค้าลำดับที่สอง
• 16 พฤษภาคม 2551 ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับ Chicago Board Options Exchange--CBOE
• 5 กันยายน 2551 ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับ The Options Industry Council --OIC
• 24 พฤศจิกายน 2551 เปิดซื้อขาย Stock Futures เป็นสินค้าลำดับที่สาม
• 2 กุมภาพันธ์ 2552 เปิดซื้อขาย Gold Futures เป็นสินค้าลำดับที่สี่

ลักษณะการดำเนินงาน
บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ เป็นศูนย์กลางการซื้อขายอนุพันธ์เกี่ยวกับตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ภายใต้พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยมีสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล สินค้าที่สามารถจัดให้มีการซื้อขายได้ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 คือ ฟิวเจอร์ส (futures) ออปชั่น (options) และออปชันบนสัญญาฟิวเจอร์ส (options on futures) ของสินทรัพย์อ้างอิงประเภทต่าง ๆ ได้แก่
- อ้างอิงกับตราสารทุน ได้แก่ ดัชนีราคาหลักทรัพย์ หลักทรัพย์
- อ้างอิงกับตราสารหนี้ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล อัตราดอกเบี้ย
- อ้างอิงกับราคาหรือดัชนีราคาอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ น้ำมันดิบ อัตราแลกเปลี่ยน

ตลาดอนุพันธ์มีเป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่าและประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- เป็นศูนย์กลางการซื้อขายอนุพันธ์ที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในธุรกิจสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง (hedging instruments) ในการบริหารเงินลงทุนและธุรกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่สมเหตุสมผล
- เป็นทางเลือกของการลงทุน ภายใต้ระบบการซื้อขายที่มีความยุติธรรม โปร่งใส และมีสภาพคล่อง รวมทั้งมั่นใจในระบบการชำระราคาสำหรับทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดอนุพันธ์ที่จะมีสำนักหักบัญชีที่มีความมั่นคงเป็นคู่สัญญา
- ให้ผู้ลงทุนมีแหล่งข้อมูลที่สะท้อนความคาดหวังของผู้ที่อยู่ในตลาดที่มีต่อราคาหลักทรัพย์ในอนาคต ส่งผลให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จรรยาบรรณของตลาดอนุพันธ์
เพื่อดำรงไว้ซึ่งความไว้วางใจของสาธารณชน บมจ. ตลาดอนุพันธ์ฯ จึงกำหนดข้อพึงปฏิบัติไว้ให้กรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา พนักงานบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยึดถือเพื่อเป็นหลักการและคุณธรรมประจำใจในการปฏิบัติงาน โดยมีหัวข้อดังนี้
• ข้อพึงปฏิบัติทั่วไป
- ข้อพึงปฏิบัติต่อตนเอง
- ข้อพึงปฏิบัติต่อผู้ลงทุน ผู้ใช้บริการ ผู้เกี่ยวข้อง และสาธารณชน
- ข้อพึงปฏิบัติต่อองค์กร
• ข้อพึงปฏิบัติระหว่างพนักงาน
• ข้อพึงปฏิบัติเมื่อมีปัญหา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts