Custom Search

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เงินฝืด (Deflation)

เงินฝืด หมายถึง สถานการณ์ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ นั่นคือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปลดลงเรื่อย ๆ นี่ไม่ได้หมายความว่า สินค้าทุกชนิดจะต้องลงราคา และในสัดส่วนเดียวกัน อาจเป็นไปได้ว่าสินค้าบางชนิดมีราคาสูงขึ้น แต่เมื่อรวมราคาสินค้าทุกชนิดแล้ว คือราคาถัวเฉลี่ยจะลดลงจากเดิม

ประเภทเงินฝืด แบ่งเป็น

1. เงินฝืดอย่างอ่อน เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ราคาสินค้าในตลาดทั่วไปจะลดลงเล็กน้อย
2. เงินฝืดอย่างปานกลาง มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจแต่ไม่รุนแรง ระดับราคาสินค้าทั่วไปในตลาดจะลดลงมากกว่าเงินฝืดอย่างอ่อน
3. เงินฝืดอย่างรุนแรง

สาเหตุของภาวะเงินฝืด

1. ธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรออกมาหมุนเวียนในตลาดน้อยเกินไป แต่อุปสงค์มีมาก
2. ประชาชนนิยมเก็บเงินไว้กับตัวมากเกินไป
3. การส่งเงินตราออกนอกประเทศมากเกินไป
4. นโยบายธนาคารกลางออกกฎหมายเรียกเก็บเงินสำรองตามกฎหมายจากธนาคารพาณิชย์มากเกินไป จนไม่มีเงินที่จะสร้างเงินฝากหรือขยายเครดิต
5. นโยบายของธนาคารพาณิชย์ไม่ขยายเครดิต ให้กู้ยืมสำหรับการลงทุนทั้งระยะสั้น ระยะยาว
6. รัฐบาลควบคุมการซื้อสินค้าเงินผ่อน
7. รัฐบาลเปลี่ยนแปลงเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ทำให้รายได้ประชาชนลดลง เงินใช้สอยลดลง
8. อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศค่อนข้างสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาในการกู้ยืมมาขยายเครดิต จำเป็นต้องกู้ยืมจากธนาคารกลาง
9. เงินฝืดมักจะเป็นผลพวงมาจากภาวะฟองสบู่แตก ทำให้เกิดปัญหาเกิดหนี้เสีย และความเชื่อมั่นต่อการลงทุนลดน้อยลง ทำให้ภาคการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินค้าเชื่อมากขึ้น

ผลกระทบของภาวะเงินฝืด กลุ่มผู้ได้ประโยชน์จากภาวะเงินฝืดได้แก่

1. ผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงานเงินเดือน ข้าราชการเกษียณได้รับบำนาญ
2. ผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ย หุ้นกู้ ผู้ถือหุ้น ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้
3. ผู้ที่เก็บเงินไว้กับตัวเอง
4. ผู้มีรายได้จากค่าเช่า ผู้เช่าก็ต้องจ่ายในราคาเท่าเดิม เพราะได้ทำสัญญาผูกมัดแล้ว

กลุ่มผู้เสียประโยชน์จากภาวะเงินฝืด ได้แก่

1. เจ้าของกิจการ นายจ้าง ผู้ผลิตสินค้า นักอุตสาหกรรม เมื่อระดับราคาสินค้าที่ผลิตออกมามีราคาลดต่ำลงเรื่อย ๆ แต่ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนในการผลิตสูง ผู้ผลิตจะไม่ทำการผลิตอีกต่อไป หรืออาจจะลดการผลิตออกมาให้น้อยลง
2. พ่อค้า นักธุรกิจ เมื่อการผลิตชะลอตัวลง และหยุดชะงักการผลิต พ่อค้า นักธุรกิจ ก็ต้องขาดรายได้ คือ กำไร ตามไปด้วย
3. ลูกหนี้ ขณะที่ทำสัญญาขอกู้ยืมเงินมูลค่าของเงินคงที่ แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด มูลค่าของเงินมีค่ามากขึ้น และการทำมาหากินฝืดเคือง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เงินหายากขึ้น แต่ต้องชำระหนี้ในมูลค่าเท่าเดิม
4. ผู้เช่า เมื่อการผลิตชะลอตัวลง และลดต่ำลงเรื่อย ๆ ราคาสินค้าก็ลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รายได้ที่รับเข้ามาก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ผู้เช่าก็ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ให้เช่าในราคาเท่าเดิม ไม่ได้ลดไปตามราคาสินค้า
5. ผู้รับค่าจ้างรายวัน
6. ผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่สามารถกำหนดได้ว่าแต่ละวันจะมีรายได้เท่าไร บางวันมีรายได้น้อยบางวันมีรายได้มาก และบางวันไม่มีรายได้เลย เช่น ผู้ที่รับจ้างทั่ว ๆ ไปไม่มีหลักแหล่ง

การแก้ไขภาวะเงินฝืด

1.ใช้นโยบายทางการเงิน ได้แก่

1.1 ธนาคารกลางจะต้องพิมพ์ธนบัตรออก มาหมุนเวียนในตลาดให้สอดคล้องกับปริมาณของอุปสงค์และอุปทาน
1.2 ธนาคารจะต้องลดอัตราเงินสดสำรองตามกฏหมายแก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อที่จะทำให้มีการขยายเครดิตเพิ่มขึ้น
1.3 ประกาศควบคุมกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าประเภทจำเป็น เช่น ข้าว เนื้อสัตว์น้ำมัน การขนส่ง ฯลฯ

2.ใช้นโยบายทางการคลัง ได้แก่

2.1 รัฐบาลจะต้องกระจายรายได้ไปสู่ชนบท ทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการลงทุนให้ชนบท เช่น จัดให้มีโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ใช้งบประมาณปีละ 3,500 ล้านบาท ส่งผลให้ประชาชนในชนบทมีงานทำมากเพิ่มขึ้นมีแหล่งน้ำ มีถนน ทำให้เพิ่มผลผลิตตามไปด้วย
2.2 งบประมาณรายจ่ายรายจ่ายของรัฐบาลจะต้องจ่ายให้มีสภาพคล่องตัวยิ่งขึ้น จะทำให้เงินหมุนเวียนในตลาดรวดเร็วขึ้น เช่น รัฐบาลจ้างทำของ (ถนน เขื่อนกั้นน้ำ ชลประทาน ฯลฯ) สั่งซื้อสินค้า เมื่อธุรกิจได้รับเงินของทางรัฐบาล จะทำให้เกิดการสร้างงานต่อไป
2.3 ขอกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ ดอกเบี้ยถูกจ่ายคืนในระยะยาว มาลงทุนในโครงการที่ช่วยพัฒนาประเทศและสามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนได้
2.4 ประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศมาลงทุน โดยมีระยะปลอดภาษีและให้ความสะดวกทุกประการ
2.5 ลดอัตราภาษีของรายได้บุคคลของประชาชน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น การใช้จ่ายก็มีมากขึ้นตามลำดับ
2.6 ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ นำขึ้นมาใช้ เช่น แก๊สธรรมชาติ เท่ากับเป็นการสร้างงาน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวทำให้ภาวะเงินฝืดเบาบางลง
2.7 ส่งเสริมผลผลิตทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมออกสู่ต่างประเทศ โดยใช้การตลาดเป็นแกนนำ ทำให้เงินตราไหลเข้าสู่ประเทศมากขึ้น

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

good

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts