MBA

We constantly research and disseminate knowledge to prepare graduate students to be leaders at the community, national and international levels.

Facebook is a social utility that connects people with friends and others who work, study and live around them. People use Facebook to keep up with friends

Custom Search

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผลตอบแทนจากการลงทุน

1.เงินปันผล คือ เงินส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานรายปีของกิจการพิจารณาจัดสรรโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่จัดให้มีขึ้นภายหลังจากการรับรองงบดุลและ งบการเงินของกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่จะประมาณเดือนเมษายนของทุกปีกฎหมายกำหนดให้กิจการต้องจัดให้มีประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นปีละหนึ่งครั้ง ภายในสี่เดือนนับจากวันสิ้นสุดปีบัญชี และไม่เกินรอบ 12 เดือนนับจากวันที่ประชุมครั้งหลังสุด

2.กำไรส่วนเกินทุน คือ เงินได้ที่เกิดขึ้นจากผลต่างของราคาขายหลักทรัพย์ที่สูงกว่าราคาทุน

ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ ได้แก่

1.ดอกเบี้ยรับ(Interest Received) คือ ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเป็นประจำตามจำนวนเงินที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ (coupon rate)บนตราสารหนี้ และตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล มีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ร้อยละ 7 จ่ายดอกเบี้ยทุกหกเดือน หมายความว่า ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน 3.50 บาท ในเดือนมิถุนายน และธันวาคม ของทุกปี เป็นต้นและงวดสุดท้ายจะได้รับดอกเบี้ยพร้อมการชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวน

2.ส่วนลดรับ (Discount Earned) คือ ในกรณีของตราสารหนี้ประเภท zero coupon bond ผู้ลงทุนสามารถซื้อตราสารหนี้ในราคาซื้อลด หรือในมูลค่าที่ต่ำกว่าจำนวนเงินหน้าตั๋ว (face value)ที่ระบุไว้ว่าจะใช้คืนในวันกำหนดชำระ ตัวอย่างเช่น

ตราสารหนี้ประเภท Zero coupon bond ที่ไม่มีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ จำนวนเงินที่จะชำระคืน 1,000 บาท กำหนดชำระคืนในปีที่ 5 นับจากวันลงทุน จำหน่ายให้แก่ผู้ลงทุนในอัตราผลตอบแทนจนถึงวันครบกำหนด (Yield to maturity) ที่ 7% ต่อปี ราคาซื้อของตราสารหนี้ประเภท Zero coupon bond จะคำนวณได้เท่ากับ 708.91 บาท

ส่วนลดรับ จะเท่ากับ 1,000 - 708.91 = 291.09 บาท

ส่วนลดรับ จึงเท่ากับ ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคารับชำระคืนเมื่อครบกำหนดนั่นเอง

3.กำไรส่วนเกินทุน (Capital Gain) คือ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลง และมีผลให้อัตราผลตอบแทนในการลงทุน ( current yield)ที่มีผู้ประสงค์ซื้อจะลดลงด้วย ราคาซื้อขายของตราสารหนี้ที่มี coupon rate ที่ตราไว้ในอัตราสูงกว่า current yieldจะขยับตัวสูงขึ้น และเป็นที่มาของกำไรส่วนเกินทุน

ความเสี่ยง

ความเสี่ยง คือการที่ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจริงเบี่ยงแบนไปจากผลตอบแทนที่คาดหวังเมื่อเริ่มลงทุน ไม่ว่าจะมากขึ้นหรือลดลงก็ถือเป็นความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น ความเสี่ยงในการลงทุนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆได้แก่

1.ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารทุน แบ่งย่อยได้ 3 ประเภทได้แก่
1.1Company Risk หรือ Credit Risk คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในบริษัทนั้นๆ อาจเกิดได้ทั้งจากสาเหตุภายในแล้ะสาเหตุภายนอก ซึ่งผู้ลงทุนไม่สามารถรู้ได้ เช่น

-การเปลี่ยนแปลงคณะบริหาร

-ความผิดพลาดในการบริหาร

-การแข่งขันของคู่แข่ง

-ความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

-ภัยพิบัติ

-การถูกฟ้องดำเนินคดี หรือ ล้มละลาย

1.2 Sector Risk หรือ Industry Risk คือ ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมนั้นๆเอง เช่น อุตสาหกรรมที่ผลิต หรือให้บริการเฉพาะไม่กี่ประเภท เช่นบริษัทสายการบิน เหมืองแร่ บริษัทคอมพิวเตอร์และSoftware ซึ่งธุรกิจประเภทนี้สามารถพุ่งสูงขึ้นหรือ ตกต่ำได้ในชั่วพริบตาหากมีเหตุการไม่คาดฝันเกิดขึ้น

1.3Market Risk คือความเสี่ยงที่เกิดจากสถาณการการลงทุนตลาดหุ้นเกิดเปลี่ยนแปลง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากตัวนักลงทุนเองหรือจากความเป็นไปในตลาดหุ้นหรือจากสภาวะภายนอกเช่นการเมือง สภาพเศรษฐกิจ ก็มีส่วนเช่นกัน

2.ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้
โดยทั่วไปแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุน แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ หากนโยบายของภาครัฐไม่แน่นอนก็อาจจะทำให้ความผันผวนและความเสี่ยงในตลาดตราสารหนี้สูงกว่าตลาดทุนก็เป็นไปไดความเสี่ยงของตราสารหนี้มีอยู่ 10 ประเภทด้วยกัน

2.1Interest Rate Risk หรือ Market Risk เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากอัตตราดอกเบี้ยในตลาดเงินผันผวน เช่น เมื่อดอกเบี้ยในตลาดเงินสูงขึ้น หรือ มีท่าทีว่าจะสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ตราสารหนี้ที่ออกมาก่อนหน้า และมีการซื้อขายในตลาดรอง ก็จะมีราคาลดลงเพื่อดึงให้อัตราผลตอบแทน(Yield)ขยับสูงขึ้นไปอยู่ในระดับที่เทียบเคียงกันกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันฉะนั้น ยิ่งตราสารหนี้ที่มีอายุยาวเพียงใด หรือมีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ (coupon rate) ต่ำเพียงใด ตราสารหนี้นั้นก็จะมีความเสี่ยงต่ออัตราดอกเบี้ยที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น

2.2Credit Risk หรือ Default Risk ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระดอกเบี้ย หรือ ชำระคืนเงินต้นได้เต็มตามจำนวนเงินหรือ ตามเวลาที่กำหนดไว้ในบรรดาตราสารหนี้ทั้งหมดของภาครัฐและภาคเอกชน ตั๋วเงินคลังของรัฐบาล จะไม่มี credit risk เลย ในขณะที่ ตั๋วเงิน หรือ หุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ประเภทอื่น ๆ ที่ออกโดยภาคเอกชน จะมี credit risk มากบ้าง น้อยบ้างในระดับที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ออกตราสารหนี้นั้นๆ

2.3Purchasing Power Risk หรือ Inflation Risk ความเสี่ยงต่อการมีอำนาจซื้อที่ลดลงในอนาคตภาวะเงินเฟ้อมีอิทธิพลต่ออำนาจซื้อของผู้ลงทุน ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่คู่กันไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผู้ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวเกินกว่า 10 ปี จึงมีความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อและอำนาจซื้อที่ลดลงในอนาคต เพราะดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาว จะมีจำนวนเงินที่ได้รับในแต่ละงวดเท่าเดิมตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อทำให้ราคาสิ่งของแพงขึ้น

2.4Reinvestment Risk ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่ ผู้ลงทุนนำเอาดอกเบี้ยรายงวดที่ได้รับจากตราสารหนี้ ไปลงทุนต่อในตราสารที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ลดลงจากเดิม ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดต่ำลง ถึงแม้ว่าตราสารหนี้ที่ลงทุนไว้ จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้คงที่ก็ตาม แต่กระแสเงินสดที่ผู้ลงทุนได้รับจากดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ จะถูกนำไปลงทุนใหม่อีกครั้งในตราสารอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยลดต่ำลง กล่าวง่าย ๆ ก็คือ อัตราดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยรับลดลงนั่นเอง จึงทำให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมในการลงทุนในตราสารหนี้ของผู้ลงทุนนั้นลดลง

2.5Rollover Risk ความเสี่ยงที่เกิดในกรณีที่ตราสารหนี้ที่ลงทุนไว้เดิมครบกำหนดอายุในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลงและผู้ลงทุนต้องนำเงินต้นที่ได้รับชำระคืนจากตราสารหนี้นั้น ไปลงทุนใหม่ในตราสารหนี้ใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ในกรณีเช่นนี้ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนรอบใหม่จะลดลง เป็นความเสี่ยงที่มีลักษณะเหมือนกับ Reinvestment Risk แต่จะเกิดกับเงินต้นที่อ่อนตัวและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ตราสารหนี้ระยะสั้น จะมี rollover risk สูงสุดแต่ในช่วงที่ตลาดเงินตึงตัว และดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ตราสารหนี้ระยะสั้นก็จะมี rollover risk ต่ำและสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าตราสารหนี้ประเภทอื่น

2.6Call Risk ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ผู้ออกตราสารหนี้ขอชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด ความเสี่ยงประเภทนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับตราสารหนี้ที่มีการระบุเงื่อนไขcall option ไว้ล่วงหน้าว่าผู้ออกตราสารหนี้มีสิทธิที่จะจ่ายชำระคืนหนี้ได้ก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงและผู้ออกตราสารหนี้สามารถหาแหล่งเงินทุนอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาจ่ายคืน (refinancing)ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้จะถูกบังคับให้รับคืนเงินและต้องนำเงินที่ได้รับคืนนั้น ไปลงทุนใหม่ในตราสารอื่นที่มีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเดิมที่เคยได้รับ

2.7Prepayment Risk ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ลูกหนี้จ่ายชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนดอายุเช่นเดียวกันกับ call risk แต่ความเสี่ยงประเภท prepayment risk นี้ มักจะเกิดขึ้นกับตราสารหนี้ประเภทที่มีบัญชีลูกหนี้พร้อมหลักทรัพย์จดจำนองเป็นประกันการชำระคืนของตราสารหนี้นั้น(mortgaged-back securities) หากลูกหนี้ตามสัญญาจำนองชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยก่อนกำหนด และถอนหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตราสารหนี้นั้นก็จะต้องรับคืนเงินก่อนกำหนดและหากอยู่ในระหว่างอัตราดอกเบี้ยขาลง ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ก็จะเสียเปรียบ เช่นเดียวกับกรณีของreinvestment risk

2.8Currency Risk หรือ Exchange Risk ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นกับกรณีของการลงทุนข้ามประเทศ

2.9Liquidity Risk ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการขาดสภาพคล่องในการซื้อขายเปลี่ยนมือของตราสารหนี้นั้นๆมักจะเกิดขึ้นกับกรณีที่ผู้ลงทุนลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่เป็นที่นิยมและมีปริมาณซื้อขายในตลาดรองน้อยมาก หากผู้ลงทุนประสงค์จะขายตราสารหนี้นั้นเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดในกรณีจำเป็นผู้ลงทุนอาจจะต้องยอมลดราคาขายลงต่ำกว่าราคาตลาดโดยทั่วไป เพื่อดึงให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้นและดึงดูดความสนใจให้มีผู้ซื้อเข้ามาซื้อ ราคาซื้อขายดังกล่าวไม่ใช่ราคาที่ยุติธรรมต่อผู้ขายอย่างแน่นอน หรืออาจจะถึงขั้นที่เป็นราคาขาดทุนก็เป็นได้ ฉะนั้น การลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่มีสภาพคล่อง ก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่สำคัญ

2.10Event Risk ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อนโยบายในการดำเนินงานของผู้ออกตราสารหนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลังจากการถือครอบงำกิจการ และอาจมีดุลพินิจที่ไม่เป็นคุณแก่เจ้าหนี้ตราสารหนี้เดิม เช่นการประกาศเพิ่มอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลต่อกำไร (payout ratio) หรือประกาศเพิ่มทุนครั้งใหญ่ ซึ่งหมายถึงกระแสเงินสดจำนวนมากที่จะต้องจ่ายเป็นเงินปันผลประจำปี และมีผลทำให้ฐานทุนของบริษัทลดความเข้มแข็งลง

ตราสารที่ลงทุน

1.ตราสารทุน (Equity Instruments) หมายถึง ตราสารที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือ เพื่อแสดงสิทธิของความเป็นเจ้าของในกิจการนั้น ประเภทของตราสารทุนได้แก่

1.1หุ้นสามัญ (Common Stocks หรือ Ordinary Shares) คือ ตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ และเมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับเงินปันผลในอัตราที่จัดสรรโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น โดยคำนวณตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ถือครอง ทั้งนี้ เงินปันผลอาจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลกำไรจากการดำเนินงานประจำปีของกิจการ

1.2หุ้นบุริมสิทธิ์ (Preferred Stocks) คือ ตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการที่มีการจดบุริมสิทธิ์ไว้อย่างชัดเจนไม่สามารถยกเลิกได้ เมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินปันผลในอัตราคงที่ตามที่จดบุริมสิทธิ์ไว้ อาจจะมากหรือน้อยกว่าผู้ถือหุ้นสามัญก็ได้ แต่หากกิจการนั้นต้องเลิกดำเนินการและมีการชำระบัญชีโดยการขายทรัพย์สิน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินคืนทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

1.3ใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น (Stock Warrants) คือ ตราสารสิทธิที่กิจการออกให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้สิทธิในการซื้อหุ้นออกใหม่ในราคา จำนวน และภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ลงทุนจะมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการก็ต่อเมื่อได้ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นของกิจการนั้นแล้วเท่านั้น

1.4หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน คือ ตราสารสิทธิในการเป็นเจ้าของหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนเน้นการลงทุนในตราสารทุน ผู้ลงทุนจะมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการที่กองทุนรวมนั้นลงทุนไว้ ตามสิทธิที่เฉลี่ยระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดในกองทุนรวมนั้นนั่นเอง

1.5ตราสารแสดงสิทธิในอนุพันธ์ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น (Stock Options & Futures) คือ สัญญาที่ผู้ลงทุนสองฝ่ายตกลงกันเพื่อซื้อหรือขายหุ้นในราคา จำนวน และภายในระยะเวลาที่กำหนด

2.ตราสารหนี้ (Debt Instruments) หมายถึง ตราสารแสดงความเป็นหนี้ หรือ สัญญาเงินกู้ที่บริษัทออกให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป โดยสัญญาว่าจะใช้เงินตามกำหนด และจ่ายดอกเบี้ยตามกำหนด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นตราสารสิทธิที่แสดงความเป็น "เจ้าหนี้ของกิจการ" โดยทั่วไปแล้วการลงทุนในตราสารหนี้ จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุน ประเภทของตราสารหนี้ ได้แก่

2.1ตราสารหนี้ภาครัฐ ได้แก่
พันธบัตรรัฐบาล (government bond)
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (state-owned enterprise bond)
พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ตั๋วเงินคลัง (treasury bill)
ตราสารหนี้ภาครัฐ มีความเสี่ยงต่ำสุดในด้านความสามารถในการชำระหนี้ แต่ตราสาร หนี้ภาครัฐก็จะมีอัตราผลตอบแทนไม่สูงนัก ส่วนใหญ่จะมีอายุการลงทุนยาว เพื่อมิให้เป็นภาระของรัฐในด้านการบริหารและการจัดการหนี้ ยกเว้นแต่กรณีของตั๋วเงินคลัง ซึ่งรัฐบาลออกเพื่อใช้ในการกู้ยืมเงินระยะสั้น (ไม่เกิน 180 วัน) หรือเพื่อดูดซับเงินสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดเงิน เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น

2.2ตราสารหนี้ภาคเอกชน ได้แก่

2.2.1หุ้นกู้ (Debenture) มีลักษณะและคุณสมบัติตามสถานะของการเป็นเจ้าหนี้
-หุ้นกู้มีประกัน (secured debt) มีการค้ำประกันหนี้โดยบุคคลที่สาม (ส่วนใหญ่ได้แก่ บริษัทแม่หรือสถาบันการเงิน) หรือมีการวางหลักทรัพย์ไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้เหนือกว่าเจ้าหนี้รายอื่น
-หุ้นกู้ไม่มีประกัน (non-secured debt) ปลอดการค้ำประกัน และปลอดหลักทรัพย์ที่วางไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกัน
-หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (senior debt) ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้เท่าเทียมกับเจ้าหนี้รายอื่น แต่ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกัน
-หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (subordinated debt) ผู้ลงทุนทรงสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ เป็นรองเจ้าหนี้รายอื่นที่ไม่ด้อยสิทธิ นั่นคือ ได้รับชำระหนี้คืนหลังสุด

2.2.2ตั๋วแลกเงิน (Bill of exchange) คือ ตราสารการเงินระยะสั้น ที่บุคคลรายหนึ่งสั่งให้บุคคลอีกรายหนึ่ง จ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่บุคคลอีกรายหนึ่ง ในวันที่กำหนดบนหน้าตั๋วแลกเงินนั้น ตั๋วแลกเงินสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดเงิน (money market) ส่วนใหญ่จะมีธนาคารหรือสถาบันการเงินค้ำประกัน หรือรับรอง หรือรับอาวัล หรือสลักหลังอย่างไม่มีเงื่อนไข

2.2.3ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory note) คือ ตราสารการเงินระยะสั้นที่ออกโดยบุคคลรายหนึ่งสัญญากับบุคคลอีกรายหนึ่งว่า จะใช้เงินจำนวนที่ระบุบนหน้าตั๋วสัญญาใช้เงิน พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้ในวันที่กำหนด ตั๋วสัญญาใช้เงินโดยส่วนใหญ่จะแลกเปลี่ยนมือไม่ได้ (non-negotiable) และแสดงข้อความไว้บนหน้าตั๋ว แต่ถ้าไม่มีการแสดงไว้ดังกล่าว และตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นมีธนาคารหรือสถาบันการเงินค้ำประกัน หรือรับรอง หรือรับอาวัล ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นก็สามารถนำมาซื้อขายในตลาดเงินได้

2.2.4บัตรเงินฝากแลกเปลี่ยนมือได้ (Negotiable Certificate of Deposit) คือ ตราสารแสดงการฝากเงินกับธนาคาร สามารถแลกเปลี่ยนมือได้ในตลาดรอง หากพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้ของภาครัฐ แต่ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า และมีอายุการลงทุนให้เลือกมาก ทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว

ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account : CA)

ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account : CA) คือ ผลรวมสุทธิของดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน - ดุลการค้า (Trade Balance) เป็นผลต่างสุทธิระหว่างมูลค่าสินค้าออก กับ มูลค่าสินค้าเข้า - ดุลบริการ (Net Services)เป็นผลต่างสุทธิที่แสดงถึงการค้าระหว่างประเทศ ในด้านบริการ ประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าท่องเที่ยว ค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของภาคทางการ ค่าสื่อสารโทรคมนาคม ค่ารับเหมาก่อสร้าง ค่ารอยัลตี้ และค่าเครื่องหมายการค้า/สิทธิบัตร ค่าประกันภัย เป็นต้น - รายได้ (Income) ประกอบด้วย(1) ผลตอบแทนการจ้างงาน(Compensation of Employees) หมายถึง รายได้ในรูปของค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน และ(2) รายได้จากการลงทุน (Investment Income) หมายถึง ผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือครองทรัพย์สินทางการเงินในต่างประเทศ ได้แก่ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนโดยตรง การลงทุนในหลักทรัพย์ และการลงทุนอื่นๆ - เงินโอนและบริจาค (Current transfers) หมายถึง เงินบริจาค หรือเงินช่วยเหลือต่างๆ ที่ผู้มีถิ่นฐานในประเทศ (residents) ได้รับหรือโอนให้ผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (nonresidents) ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพยากรที่แท้จริงหรือทางการเงิน เช่น เงินที่ทางประเทศไทยได้รับจากการบริจาคจากประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์ซึนามิ ทางภาคใต้ เป็นต้น
ดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) คือ บัญชีที่จัดทำขึ้นเพื่อดูการไหลเข้าและออกของเงินตราต่างประเทศจากการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ระหว่างผู้มีถิ่นฐานในประเทศ (Residents) กับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (Nonresidents) ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งดุลการชำระเงินจะประกอบไปด้วย



1. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) หมายถึง ดุลการค้า + ดุลบริการ + ดุลรายได้จากการลงทุนระหว่างประเทศ + ดุลเงินโอนระหว่างประเทศ ข้อสังเกตที่สำคัญของดุลบัญชีเดินสะพัด คือ เป็นเงินที่มีลักษณะการโยกย้ายแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องโอนเงินดังกล่าวกลับไปในภายหลัง โดยองค์ประกอบของดุลบัญชีเดินสะพัด ได้แก่


· ดุลการค้า (Balance of Trade) หมายถึง ผลต่างระหว่างมูลค่าสินค้าส่งออก (Export) และสินค้านำเข้า (Import) ของประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยทั่วไประยะเวลาที่ใช้เปรียบเทียบ คือ รายเดือน รายไตรมาส และรายปี

· ดุลบริการ (Balance of Service) หมายถึง ผลต่างระหว่างมูลค่าบริการที่ได้รับจากต่างประเทศและมูลค่าบริการที่จ่ายไปยังต่างประเทศ รายการหลักสำหรับประเทศไทยในดุลบริการ ได้แก่ ดุลการท่องเที่ยว และค่าบริการขนส่งระหว่างประเทศ

· ดุลรายได้จากการลงทุนระหว่างประเทศ (Investment Income Balance) หมายถึง ผลต่างระหว่างเงินรายได้ ดอกเบี้ย และเงินปันผลที่โอนจากนอกประเทศเข้ามาในประเทศ และเงินรายได้ในลักษณะเดียวกันที่โอนออกนอกประเทศ

· ดุลเงินโอนระหว่างประเทศ (Transfer Balance) เป็นการโอนเงินไปมาระหว่างประเทศโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการ เช่น บริษัทแม่ในต่างประเทศโอนเงินเข้ามาให้บริษัทลูกที่อยู่ในประเทศไทย หรือคนไทยโอนเงินไปทำบุญแก่วัดไทยในต่างประเทศ เป็นต้น

ตลาดทุน (Capital market)

“ตลาดทุน (Capital market)” เป็นแหล่งในการระดมเงินออมระยะยาว (เกิน 1 ปี) เพื่อทำการจัดสรรให้กับผู้ที่ต้องการเงินทุนระยะยาว นำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การขยายธุรกิจของผู้ประกอบกิจการเอกชน หรือการลงทุนในด้านการสาธารณูปโภคของภาครัฐบาล เป็นต้น โดยผู้ที่ต้องการระดมเงินทุนจะออกตราสารทางการเงิน หรือหลักทรัพย์ในตลาดทุน ซึ่งประกอบด้วย หุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ, หุ้นกู้, พันธบัตรรัฐบาล, หน่วยลงทุนของกองทุนรวม, หรือใบสำคัญแสดงสิทธิ เพื่อขายให้กับบุคคลภายนอก หรือประชาชนโดยทั่วไปใน “ตลาดแรก (Primary Market)”
โดยมี “ตลาดรองหรือตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ (Secondary or Trading Market)” เป็นแหล่งกลาง สำหรับการซื้อขายเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการจองซื้อในตลาดแรกมาแล้ว เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรกว่า เขาจะสามารถขายหลักทรัพย์นั้นเพื่อเปลี่ยนกลับคืนเป็นเงินสดได้เมื่อต้องการ

และ “ตลาดหลักทรัพย์ (Securities Market)” เป็นสถาบันหนึ่งในตลาดรอง ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมการระดมเงินออม และจัดสรรเงินทุนในตลาดทุน อันเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

วัตถุประสงค์สำหรับการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นครั้งแรก ในพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 คือเพื่อ

· จัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์

· ทำหน้าที่ส่งเสริมการออมทรัพย์และการระดมเงินทุนในประเทศ

· สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจ และอุตสาหกรรมภายในประเทศ

· ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ให้การซื้อขายหลักทรัพย์มีสภาพคล่อง อยู่ในระดับราคาที่สมเหตุสมผลเป็นไปอย่างมีระเบียบและยุติธรรม

· ให้ตลาดหลักทรัพย์มีสภาพเป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันเอกชน ดำเนินการโดยไม่นำผลกำไรมาแบ่งปันก
สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยได้แก่ :-

1. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand) ทำหน้าที่เป็นตลาดหุ้น หรือศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตัวตลาดหลักทรัพย์เองไม่ได้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรง หากแต่ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้การซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นไปอย่างมีระเบียบ คล่องตัวและยุติธรรม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน และก่อให้เกิดการระดมเงินออมจากประชาชนไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยส่วนรวม

2. บริษัทสมาชิก (Broker) ทำหน้าที่เป็นตัวแทน หรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป โดยบริษัทสมาชิกจะได้รับค่าธรรมเนียมเป็นการตอบแทน รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทสมาชิก จะได้กล่าวถึงในบทต่อไป

3. หลักทรัพย์จดทะเบียน (Listed Security) หมายถึง หลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัท เพื่อให้มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยทั้งหลักทรัพย์จดทะเบียนและบริษัทจดทะเบียนผู้ออกหลักทรัพย์นั้น จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด และเป็นไปตามข้อตกลงการจดทะเบียนหลักทรัพย์ (Listing Agreement) ประเภทของหลักทรัพย์จดทะเบียนสามารถแบ่งออกเป็น หุ้นสามัญ (Ordinary Share), หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Share), หุ้นกู้ (Debenture), หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture), พันธบัตร (Bond), หน่วยลงทุน (Unit Trust), ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน (Warrant), และใบสำคัญแสดงสิทธิระยะสั้น (Short - Term Warrant)

4. ผู้ลงทุน (Investor) จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนอาจเป็นประชาชนทั่วไปหรือนิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนในรูปของกำไรจากการซื้อขาย (ผู้ลงทุนระยะสั้น) หรือรวมทั้งดอกเบี้ยและเงินปันผลด้วย (ผู้ลงทุนระยะยาว)

Popular Posts