MBA

We constantly research and disseminate knowledge to prepare graduate students to be leaders at the community, national and international levels.

Facebook is a social utility that connects people with friends and others who work, study and live around them. People use Facebook to keep up with friends

Custom Search

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

ค่าจ้างและผลตอบแทนการทำงาน

ผลตอบแทนการทำงานถูกกำหนดไว้ด้วยคำจำกัดความว่า ค่าจ้าง ซึ่งหมายถึง เงิน ที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างได้ทำ และหมายความรวมถึงเงินที่จ่ายให้ในวันหยุด และในวันลา ซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงาน แต่มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงาน

ขอบเขตและความหมายของการบริหารผลตอบแทน
ในความหมายของผลตอบแทนในแง่ธุรกิจ ย่อมหมายถึงต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซึ่งกำหนดจ่ายแก่พนักงานเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตาม ค่าของงาน และ ผลการทำงาน
ส่วนในด้านพนักงาน ผลตอบแทนก็คือ ค่าจ้างหรือเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์อื่นซึ่งบริษัทกำหนดให้ เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงาน โดยที่พนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยใช้วิชาความรู้ ทักษะ ความชำนาญตามตำแหน่งของงาน ซึ่งตนได้รับไว้ตามสัญญาจ้างแรงงาน
การบริหารผลตอบแทน จึงมีความหมายมิใช่เฉพาะเรื่องการบริหารค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่หมายถึงตั้งแต่การกำหนดลักษณะงาน ค่าของงาน (Job Value) การวัดผลการทำงาน ตลอดจนถึงการบริหารสวัสดิการ และผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งบริษัทกำหนดให้เป็นผลตอบแทนการทำงาน และการกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจ่ายหรือการจัดให้พนักงานได้รับผลตอบแทนการทำงานดังกล่าวอย่างถูกต้อง
การบริหารผลตอบแทนจึงจำเป็นต้องมีการวางแผน การจัดระบบงาน การควบคุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายผลตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานที่พนักงานได้ทุ่มเท (Contribute) ให้แก่บริษัท

เป้าหมายของการบริหารผลตอบแทนการทำงาน
เป้าหมายหลักในการจัดระบบการบริหารผลตอบแทนการทำงาน นอกเหนือจากเพื่อธำรงรักษาทรัพยากรบุคคลของบริษัทแล้ว ยังมีเป้าหมายหลักดังนี้
1. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานที่ดีที่สุด ควรได้รับผลตอบแทนสูงสุด
2. เพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด
3. เพื่อสามารถแข่งขันกับตลาดได้ คือ สามารถธำรงรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถคัดเลือก สรรหาผู้มีความสามารถเข้ามาเป็นพนักงานบริษัท
4. สามารถควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผลตอบแทนการทำงานให้สอดคล้องกับผลผลิต และผลการดำเนินธุรกิจ
5. เพื่อให้การจ่ายผลตอบแทนเป็นการจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน (Pay per Performance)
6. เพื่อสะดวกแก่การบริหารและการจัดการให้เป็นไปตามนโยบายและหลักการบริหารบุคคลในเรื่อง ต่าง ๆ ซึ่งได้แก่
6.1 การจ้างแรงงาน
6.2 การสับเปลี่ยน โยกย้าย แต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่งพนักงาน
6.3 มาตรฐานงานและการประเมินผลการปฏิบัติงาน
6.4 การบริหารค่าจ้างและเงินเดือน
6.5 การบริหารสวัสดิการ
6.6 การจัดการเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่บริษัทจัดให้แก่พนักงาน ฯลฯ
7. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือจากพนักงาน โดยอาศัยหลักแห่งความยุติธรรมในการจ่ายผลตอบแทนการทำงาน

Key Performance Indicator

KPI คือ เครื่องมือที่ใช้วัดผลการดำเนินงานหรือประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ขององค์กร ซึ่งสามารถแสดงผลของการวัดหรือการประเมินในรูปข้อมูลเชิงประมาณเพื่อสะท้อนประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการปฏิบัติงานขององค์กรหรือหน่วยงานภายในองค์กร

ขั้นตอนการสร้าง KPI
  • กำหนดวัตถุประสงค์หรือผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการ (What to measure)
  • กำหนดปัจจัยสู่ความสำเร็จหรือปัจจัยวิกฤต (Key Success Factor or Critical Success Factor) ที่สัมพันธ์กับวัตถุประสงค์หรือผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการ เช่น ปัจจัยด้านคุณภาพ ปริมาณ ต้นทุน การส่งมอบ ความพึงพอใจ ความปลอดภัย และการเพิ่มผลผลิต
  • กำหนดตัวดัชนีชี้วัดที่สามารถบ่งชี้ความสำเร็จ/ประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลจากการดำเนินการตามวัตถุประสงค์หรือผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการ (How to measure) ซึ่งสามารถแสดงเป็นข้อมูลในเชิงปริมาณและกำหนดสูตรในการคำนวณรวมทั้งหน่วยของดัชนีชี้วัดแต่ละตัว
  • กลั่นกรองดัชนีชี้วัดเพื่อหาดัชนีชี้วัดหลัก โดยจัดลำดับและกำหนดน้ำหนักความสำคัญของดัชนีชี้วัดแต่ละตัว
  • กระจายดัชนีชี้วัดสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำ KPI Dictionary โดยระบุรายละเอียดที่สำคัญของดัชนีชี้วัดแต่ละตัว เช่น ชื่อของดัชนีชี้วัดคำจำกัดความหรือนิยามของดัชนีชี้วัด สูตรในการคำนวณ หน่วยของดัชนีชี้วัด ผู้เก็บข้อมูล ความถี่ในการรายงานผล เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องใรการนำดัชนีชี้วัดไปใช้ในการปฏิบัติงาน

ลักษณะของดัชนีชี้วัดที่ดี
  • สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ขององค์กร
  • ควรแสดงถึงสิ่งที่มีความสำคัญต่อองค์กรและหน่วยงานเท่านั้น ซึ่งดัชนีชี้วัดที่มีความสำคัญต่อองค์กรและหน่วยงานที่มี 2 ลักษณะ คือ ดัชนีชี้วัดที่แสดงผลการดำเนินงานที่สำคัญขององค์กร และดัชนีชี้วัดกิจกรรมหรืองานที่สำคัญซึ่งหากผิดพลาดจะก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงในองค์กรหรือหน่วยงาน
  • ประกอบด้วยดัชนีชี้วัดทั้งที่เป็นด้านการเงิน และดัชนีชี้วัดไม่ใช่ด้านการเงิน
  • ประกอบด้วยดัชนีชี้วัดที่เป็นเหตุและดัชนีชี้วัดที่เป็นผล
  • ต้องมีบุคคลหรือหน่วงงานรับผิดชอบดัชนีชี้วัดทุกตัวที่สร้างขึ้น
  • ดัชนีชี้วัดที่สร้างขึ้นควรเป็นดัชนีชี้วัดที่องค์กรหรือหน่วยงานสามารถควบคุมผลงานได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
  • เป็นดัชนีชี้วัดที่สามารถวัดผลได้ และบุคคลทั่วไปเข้าใจ ไม่ใช่มีเพียงผู้จัดทำเท่านั้นที่เข้าใจ
  • ต้องช่วยให้ผู้บริหารและพนักงานสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขององค์กรได้ นอกเหนือจากการใช้ดัชนีชี้วัดเพื่อการประเมินผลงาน
  • ตัวดัชนีชี้วัดที่ดีจะต้องไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในองค์กร

เกณฑ์การทดสอบคุณภาพของดัชนีชีวัด
  • ความพร้าอมของข้อมูล ประเมินว่าดัชนีชี้วัดแต่ละตัวมีข้อมูลเพียงพอหรือไม่
  • ความถูกต้องของข้อมูล ประเมินว่าข้อมูลที่มีอยู่ของดัชนีชี้วัดแต่ละตัวเป็นข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นข้อมูลในปัจจุบันหรือไม่
  • ต้นทุนในการจัดหาหรือจัดเก็บข้อมูล ประเมินว่าการหาหรือเก็บข้อมูลสำหรับดัชนีชี้วัดแต่ละตัวใช้ต้นทุนมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่าหรือไม่
  • ความชัดเจนของดัชนีชี้วัด ประเมินว่าดัชนีชี้วัดแต่ละตัวมีความชัดเจนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกันหรือไม่
  • ดัชนีชี้วัดแต่ละตัวสะท้อนให้เห็นผลการดำเนินงานที่แท้จริงหรือไม่ หรือแสดงให้เห็นสิงที่ต้องการจะวัดจริงหรือไม่
  • สามารถนำดัชนีชี้วัดไปใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่นหรือผลการดำเนินงานในอดีตได้หรือไม่
  • ดัชนีชี้วัดแต่ละตัวสัมพันธ์กับดัชนีชี้วัดอื่นในเชิงเหตุและผลหรือไม่

ข้อควรระวัง
  • ผู้บริหารขาดความมุ่งมั่นในการสร้างดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงาน
  • การกำหนดดัชนีชี้วัดและค่าเป้าหมายที่มีความลำเอียง
  • ดัชนีชี้วัดแต่ละตัวไม่อยู่บนพื้นฐานที่สามารถเปรียบเทียบกันได้
  • ช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลของดัชนีชี้วัดไม่เหมาะสมทำให้ไม่สามารถใช้สำหรับการชี้นำหรือบ่งบอกเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
  • ไม่มีการนำข้อมูลที่ได้จากดัชนีชี้วัดมาประกอบการบริหารเพื่อผลักดันให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
  • ในการสร้างดัชนีชี้วัดส่วนใหญ่เน้นที่ผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการในการสร้างดัชนีชี้วัด

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
  • ความมุ่งมั่นของผู้บริหารในการสร้างดัชนีชี้วัด
  • ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์รวบรวม ประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล แสดงผล และกระตุ้นเตือนผู้รับผิดชอบดัชนีชี้วัด
  • กำหนดเงื่อนไขการให้คะแนนดัชนีชี้วัดแต่ละตัวให้อยู่บนพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ในการเปรียบเทียบผลงานที่เกิดขึ้นได้
  • ประยุกต์ใช้ดัชนีชี้วัดในการบริหารเพื่อผลักดันให้เกิดการปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่อง
  • เชื่อมโยงผลงานที่ได้จากดัชนีชี้วัดกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน

การพัฒนาตนเอง (Self Development)

เก่งตน (Self Ability)
หมายถึง เป็นผู้ที่ชอบศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันโลกทันคน โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเองก่อน การพัฒนาตนเองนั้นพัฒนาได้ 3 ทางคือ
  • ทางกาย องค์ประกอบที่สำคัญคือ รูปร่าง พัฒนาให้ดีขึ้นโดยใช้การแต่งกายช่วยลดจุดด้อยหรือเสริมจุดเด่น หน้าตาสดชื่นแจ่มใส สะอาดหมดจด อากัปกิริยา การแสดงออกเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ การยืน การเดิน การนั่ง ต้องมั่นคง เรียบร้อย การแต่งกายต้องสะอาดเหมาะสมกับกาลเทศะ เหมาะสมกับรูปร่างและผิวพรรณ
  • ทางวาจา การพูดดีต้องมีองค์ประกอบ ๔ ประการคือ พูดแต่ดี มีประโยชน์ ผู้ฟังชอบ และทุกคนปลอดภัย ก่อนพูดทุกครั้งต้องคิดก่อนพูด คนที่พูดดี มีปิยะวาจา เป็นลมปากที่หวานหูไม่รู้หาย เป็นที่รักใคร่ชอบพอแก่ทุก ๆ ฝ่ายที่ได้ยินได้ฟัง
  • ทางใจ การพัฒนาทางใจก็มีองค์ประกอบหลายประการ เช่น ความมั่นใจ ถ้ามีความมั่นใจในตนเอง จะทำอะไรก็สำเร็จ ความจริงใจ คือ เป็นคนปากกับใจตรงกัน ความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง แจ่มใส มีชีวิตชีวา ความมานะพยายามไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ความซื่อสัตย์สุจริต ความสุขใจ ความอดกลั้น ความมีเหตุผล การมีสมรรถภาพในการจำและมีความคิดสร้างสรรค์

เก่งคน (Self Ability)
หมายถึง มีความสามารถที่จะทำตัวให้เข้าไหนเข้าได้ เป็นที่รักใคร่ชอบพอแก่ทุกฝ่าย มีมนุษยสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่ควรรู้หลักจิตวิทยาในการปกครองลูก ให้ความรัก ความอบอุ่นแก่ลูก ลูกก็ไม่ทำตนให้เป็นปัญหาให้พ่อแม่ และมีมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน สามารถทำตนให้เข้ากับคนได้กับทุกคน หากมีผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาก็รัก หากมีลูกน้อง ลูกน้องก็รัก เพื่อนร่วมงานก็รัก บุคคลภายนอกหรือลูกค้าก็รัก ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองและธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง

เก่งงาน (Task Ability)
หมายถึง ผู้ที่รักงาน ขยันทำงาน และรู้วิธีทำงาน มีความขยันหมั่นเพียร มานะ อดทน ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค

การตลาดหางยาว หรือ Long tail Marketing

การตลาดลองเทล (Long tail Marketing) เป็นการตลาดแนวใหม่ล่าสุดที่สามารถเสนอทางเลือกอันไม่รู้จบให้กับผู้บริโภคได้อย่างน่าทึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดกลุ่มเป้าหมายเพราะข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ หรืองบประมาณเหมือนวิธีทางการตลาดที่ผ่านมา โดยอาศัยกลไกการตลาดแบบอัตโนมัติ (Marketing Automation) มาตอบสนองความต้องการของลูกค้า 'ทุกราย' ได้อย่างเป็นระบบ
การตลาดหางยาว หรือ Long tail Marketing เปลี่ยนมุมมองการตลาดแบบเดิมๆ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดกลุ่มลูกค้าชั้นดีที่มีจำนวนไม่มาก การเน้นลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงเพียงบางกลุ่ม เปลี่ยนเป็นให้ความสนใจกับน้ำหนักของกลุ่มลูกค้าทีมีกำลังซื้อน้อยกว่าแต่มีจำนวนมากกว่าเยอะและยังไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ โดยขอแนะนำให้รู้จักการตลาดหางยาว หรือ Long Tail Marketing กันแบบคร่าว ๆ สัก 4 ประเด็น ได้แก่

1. กฎลองเทล (Long tail) เป็นกฎตรงข้ามกับกฎของพาเรโต
หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่ากฎ 80/20  ซึ่งบอกกับนักขายอย่างเราว่า 'สินค้าขายดี 20% สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 80%'  หรือไม่ก็ 'ยอดขาย 80% มาจากลูกค้าชั้นดีเพียง 20%' 
แต่กฎลองเทล นั้นตรงข้ามกับกฎ 80/20 และด้วยการท้าทายว่า 'ยอดขายของบรรดา สินค้าที่ขายไม่ดี เมื่อรวมกันแล้วอาจจะสูงกว่ายอดขายของ สินค้าขายดี ก็ได้'
กฎลองเทลตั้งข้อสังเกตว่าการให้ความสำคัญกับลูกค้าชั้นดี 20% ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่ว่าทำไมต้องตัดลูกค้าธรรมดาจำนวน 80% ทิ้งออกไปด้วย

2. กลยุทธ์หลักของการตลาดลองเทล (Long tail) คือ การไม่เจาะจงกลุ่มลูกค้า
นั่นคือต้องการได้ลูกค้าทั้ง 100% โดยใช้ระบบเป็นผู้รับเรื่อง ทำให้สามารถตอบสนองได้ทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่ตลาดนิช (Niche Market) ที่เล็กที่สุดที่อยู่ในส่วนหางที่ยาวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั้งหมด

3. กลยุทธ์การตลาดลองเทล (Long tail) ไม่ได้เป็นกลยุทธ์การตลาด สำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
ประเด็นของกลยุทธ์นี้ไม่ได้อยู่ที่ การขายโดยใช้อินเทอร์เน็ต แต่เป็นการขายโดยอัตโนมัติ ร้านค้าหรือกิจการที่ทำคนเดียวก็สามารถนำเอากลยุทธ์การตลาดลองเทลนี้ไปใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน

4. กลยุทธ์การตลาดลองเทล (Long tail) ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะกับ "สินค้า" เท่านั้น
นอกจากสินค้าแล้ว ยังมีลองเทล (Long Tail) ของ 'ลูกค้า' (Customer) และ 'การให้บริการ' (Service) ด้วย   

หากท่านอยากรู้รายละเอียดของกลยุทธ์ลองเทล (Long Tail Marketing) อยากเพิ่มยอดขายให้ตัวเอง อยากได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยใช้ต้นทุนและทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ขอแนะนำให้รีบศึกษาเพิ่มเติมโดยด่วน

การตลาดโดยตรง (Direct Marketing)

ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่มีขนาดเล็กและงบประมาณน้อย ดังนั้นการทุ่มเทเม็ดเงินเพื่อสื่อสารไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายต้องมั่นใจว่า ผู้รับสารเหล่านั้นเป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริงและที่สำคัญต้องมีศักยภาพในการซื้อสินค้า การใช้การตลาดโดยตรงจึงเป็นเครื่องมือที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะตอบสนองวัตถุประสงค์ของธุรกิจเอสเอ็มอีได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำฐานข้อมูล (Database Management) ที่บันทึกรายละเอียดและพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไว้อย่างเป็นระบบและมีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างถูกต้อง ย่อมส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี อันนำไปสู่ความจงรักภักดีของลูกค้าที่มีต่อธุรกิจในที่สุด
หลักการที่สำคัญอย่างหนึ่งของการทำฐานข้อมูลก็เพื่อสนับสนุนแนวคิดเรื่องของกฎ 80 : 20 นั่นเอง ซึ่งแนวคิดนี้มีความเชื่อในเรื่องของความสัมพันธ์ของลูกค้ากับมูลค่าการขายสินค้าที่ว่าร้อยละ 80 ของลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้อสินค้าเพียงร้อยละ 20 ของมูลค่าการขายทั้งหมด
ในขณะที่ลูกค้าที่เหลืออีกร้อยละ 20 กลับมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าการขายทั้งหมด นั่นแสดงว่าลูกค้ากลุ่มหลังเป็นส่วนสำคัญที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญและมุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ากลุ่มนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยผ่านฐานข้อมูลทางการตลาด
กลวิธีของการตลาดโดยตรงที่เหมาะสมกับธุรกิจเอสเอ็มอีมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การส่งจดหมายไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและธุรกิจ การติดต่อผ่านอีเมล์ โทรศัพท์ โทรสาร ตลอดจนการติดต่อเป็นส่วนบุคคล ซึ่งล้วนมีประโยชน์และสร้างผลกระทบต่อยอดขาย ตลอดจนสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างธุรกิจเอสเอ็มอีกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี?

Popular Posts