ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (ADB)
มีหลายกลุ่มที่ต่อต้าน ADB ทั้งในไทยและต่างประเทศ ถึงแม้ว่ากลุ่มเหล่านี้ต่อต้าน ADB แต่แต่ละกลุ่มอาจมีความคิดเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับ ADB
กลุ่มหนึ่งเห็นว่าโครงการของ ADB นั้น บางโครงการไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายด้านสังคมและสภาพแวดล้อมอย่างเพียงพอ เน้นเพียงแต่รายได้ที่เป็นตัวเงิน หรือให้ประโยชน์ต่อคนรวยเป็นส่วนมาก
บางกลุ่มในไทยคิดว่า นโยบายการให้เงินกู้ของ ADB เป็นรูปแบบหนึ่งของทุนต่างชาติที่คืบคลานเข้ามายึดเศรษฐกิจและทรัพยากรของไทย โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การสร้างความมั่งคั่งและผลกำไรให้กับประเทศของตนเอง
รู้จัก เอดีบี
1. เอดีบี คือ ?
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ เอดีบี คือสถาบันทางการเงินที่มุ่งเน้นการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เอดีบีมีอิทธิพลต่อการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เป็นคู่แข่งแม้กระทั่งธนาคารโลก และองค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ โดยเอดีบีมีพื้นที่เป้าหมายอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ก่อตั้งเมื่อปี 1966 (พ.ศ. 2509) ตั้งแต่นั้นมาสถาบันทางการเงินแห่งนี้ก็ทำหน้าที่เป็นช่องทางสำคัญสำหรับอิทธิพลทางธุรกิจของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยธรรมเนียมแล้ว ตำแหน่งประธานของเอดีบี และผู้บริหารระดับสูงจะเป็นคนญี่ปุ่น เหมือนกับที่สหรัฐอมริกาครองตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในธนาคารโลก
2. เอดีบี ทำอะไร?
เอดีบีให้เงินกู้ ลงทุน และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่รัฐบาล และบริษัทเอกชนต่าง ๆ ในประเทศสมาชิก สำหรับการเตรียมการและการดำเนินการโครงการพัฒนาต่าง ๆ จนเสร็จสิ้น และยังทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากการระดมเงินทุนจากทั้งภาคเอกชนและภาคสาธารณะเพื่อการพัฒนา
3. ใครเป็นผู้จ่ายเงินสำหรับการดำเนินงานของเอดีบี?
เอดีบีตั้งขึ้นมาด้วยเงินจากการบริจาค และเงินจากการเป็นสมาชิกของประเทศต่าง ๆ และจากการกู้ยืมจากตลาดเงินระหว่างประเทศด้วย
4. ใครบ้างที่เป็นประเทศสมาชิก?
เอดีบีมีสมาชิกผู้ถือหุ้นทั้งหมด 57 ประเทศ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2540 ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดคือ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คือประเทศละ 16 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเฃียและแปซิฟิคจำนวน 41 ประเทศ ถือหุ้นอยู่รวมกัน 47 เปอร์เซ็นต์ (ไม่รวมญี่ปุ่น) และสมาชิกอีก 16 ประเทศที่มาจากประเทศอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ ถือหุ้นอยู่ 21 เปอร์เซ็นต์ (ไม่รวมสหรัฐอเมริกา) ผู้ถือหุ้นสิบอันดับต้น ๆ (เรียงตามลำดับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไปเล็ก) คือ ญี่ปุ่นและอเมริกา จีน อินเดีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แคนาดา เกาหลี เยอรมัน และมาเลเซีย โดยเอดีบีมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
5. ใครเป็นผู้บริจาคทุนรายใหญ่ของเอดีบี?
ผู้บริจาครายใหญ่ คือ ญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมัน ออสเตรเลีย และแคนาดา
6. ใครเป็นผู้กู้รายใหญ่ของเอดีบี?
ในปี 2539 ผู้กู้รายใหญ่ (เรียงตามลำดับ) คือ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน เวียดนาม ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เนปาล บังคลาเทศ และกัมพูชา
7. โครงสร้างการตัดสินใจของเอดีบีเป็นอย่างไร?
โดยทางปฏิบัติ ประเทศผู้บริจาครายใหญ่จะมีอำนาจในการตัดสินใจมากที่สุด ซึ่งก็คือ ญี่ปุ่น และอเมริกา รองลงมาคือ ออสเตรเลีย ที่ผ่านมาประธานของเอดีบีทั้ง 6 คนเป็นชาวญี่ปุ่น ผลก็คือ โครงการต่าง ๆ ที่เอดีบีให้กู้ก็จะเป็นโครงการที่ญี่ปุ่นเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องผลประโยชน์ด้วยเสมอ
8. เอดีบีวางหลักการการดำเนินงานอย่างไร? เอดีบีระบุหลักการการดำเนินงานของตัวเองว่า
- เพื่อขยายเงินกู้ และสร้างความทัดเทียมในการลงทุนสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิก
- เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคสำหรับการเตรียมการและการดำเนินการโครงการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้วย
- เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุนของทั้งภาคเอกชนและภาคสาธารณะต่อโครงการการพัฒนาต่าง ๆ
- เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องสำหรับการให้ความช่วยเหลือกับประเทศสมาชิกทางด้านการวางแผนหรือด้านการวางนโยบายการพัฒนาร่วมกัน
9. อะไรที่เอดีบีบอกว่าเป็นเป้าหมายในทางยุทธศาสตร์ของเอดีบี?
เอดีบีอธิบายบทบาทของตัวเองในภูมิภาคนี้ว่า "เพื่อที่จะเข้ามามีส่วนในระดับกว้าง ๆ ของกิจกรรมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในภูมิภาคนี้" โดยเอดีบีมองว่าจะต้องสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค โดยวางเป้ายุทธศาสตร์ของธนาคารว่า "จะต้องสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดทอนความยากจน ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยกระดับสถานะของผู้หญิง และปกป้องสิ่งแวดล้อม" อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นถูกระบุไว้ปะปนกับเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมันเด่นชัดว่านโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดทอนความยากจนนั้นยังคงเป็นเป้าหมายใจความใหญ่ หรือถือเป็นปรัชญาการดำเนินงานของธนาคาร
10. เอดีบีอนุมัติวงเงินเพื่อโครงการพัฒนาทางด้านใดบ้าง?
เมื่อเริ่มก่อตั้ง เอดีบีอนุมัติวงเงินมากกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อการให้กู้ยืมสำหรับ 1,300 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อการพัฒนาโครงสร้างขนาดใหญ่ โดยมุ่งเป้าที่ด้านพลังงาน (โครงการท่อแก๊สยาดานา) การโทรคมนาคม การขนส่ง และการท่องเที่ยว (การสร้างสนามบินงูเห่า และการตัดถนนเชื่อม 6 ประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง) และแบ่งสรรเพียง 2% (ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุด) ให้กับด้านการศึกษา ส่วนโครงการพัฒนาในภาคเกษตร เงินกู้ของเอดีบีจะพ่วงมากับเงินกู้อื่น ๆ ของญี่ปุ่น เช่น กองทุนเพื่อการพัฒนาโพ้นทะเล และธนาคารเพื่อการส่งออกของญี่ปุ่น เป็นต้น
11. บทบาทของเอดีบีในขณะนี้เป็นอย่างไร?
บทบาทแต่ก่อนธนาคารเป็นผู้ให้กู้เงินแก่ประเทศสมาชิกโดยตรง แต่ในปัจจุบัน ธนาคารได้เปลี่ยนบทบาทใหม่มาเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนา โดยใช้การลงทุนในโครงการต่าง ๆ มาโน้มน้าวภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนและจัดการทางด้านการเงินร่วมกัน โดยเอดีบีจะเป็นผู้วางกรอบและผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างของสถาบันต่าง ๆ โดยการแปรรูป และปรับกฎหมาย เพื่อปูทางให้ภาคเอกชนเข้ามา การดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเช่นนี้ เอดีบีอ้างว่าทำให้เงินทุนมหาศาลหลั่งไหลเข้ามาเสริมวิสัยทัศน์ทางด้านการพัฒนาของเอดีบีในภูมิภาคให้ขยายออกไปอย่างมากมาย