Custom Search

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นโยบายการเงิน (Monetary policy)

นโยบายการเงินคือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน ได้แก่ ปริมาณเงิน (Money supply) อัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate) และอัตราดอกเบี้ย (Interest rate) ทำโดยการปรับลด-เพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อการกำหนดทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่าหรืออ่อนค่า และการปรับลด-เพิ่มของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง หรือธนาคารแห่งประเทศไทยในการกำหนดทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงิน

ทำไมต้องมีนโยบายการเงิน
เช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ต่างก็ดำเนินนโยบายการเงินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กล่าวคือ ในยามที่เศรษฐกิจขาลง หรือตกต่ำ มีคนว่างงานจำนวนมาก การดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัว ก็จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นได้ ขณะที่หากเกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ๆ อันเนื่องมาจากขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงเกินไป จนการผลิตมีมากกว่าความต้องการบริโภคที่แท้จริง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจได้ในอนาคต เพราะสินค้าที่ผลิตมากเกิน อาจจะขายไม่ออกในเวลาต่อมา นโยบายการเงินก็จะดำเนินไปในแนวทางที่ตึงตัวขึ้นหรือหดตัว เพื่อลดความร้อนแรงของภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว

นโยบายการเงินแบบขยายตัว (Expansionary monetary policy) สามารถทำได้หลายวิธีได้แก่

• การเปลี่ยนแปลงอัตราเงินสดสำรองที่ต้องดำรง (Reserve ratio) ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหมายถึง เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต้องฝากไว้กับธนาคารกลาง ซึ่งอาจกำหนดไว้ที่ร้อยละ 6 ซึ่งหมายถึงว่าหากธนาคารพาณิชย์รับเงินฝากจากประชาชนมา 100 บาท ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องฝากเงินสดสำรอง (Required reserve) ไว้ที่ธนาคารกลาง 6 บาท และเหลือเงินสดสำรองส่วนเกิน (Excess reserve) เพื่อปล่อยกู้ หรือลงทุนแสวงหากำไรอีก 94 บาท เป็นต้น ซึ่งหากมีการปรับลดอัตราเงินสดสำรองเหลือร้อยละ 3 ก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสดสำรองส่วนเกินเพื่อปล่อยกู้ให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นเป็น 97 บาท เป็นต้น (เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจง่ายๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว เงินสดสำรองส่วนเกินดังกล่าวยังจะต้องผ่านกระบวนการสร้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อีกกระบวนการหนึ่ง โดยจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดในบทความต่อๆ ไป เมื่อมีโอกาส) ซึ่งเมื่อธนาคารพาณิชย์มีเงินสดสำรองส่วนเกินมากขึ้น และกลไกการปล่อยสินเชื่อทำได้เต็มที่ จะทำให้การบริโภคและการลงทุนปรับสูงขึ้น การจ้างงานก็ปรับสูงขึ้น และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้
• การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือพันธบัตรของธนาคารกลางกับภาคเอกชน (Open market operation) การดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัว ธนาคารกลางจะซื้อหลักทรัพย์จากภาคเอกชน เพื่อปล่อยเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการบริโภค การลงทุนและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไป
• การเปลี่ยนแปลงอัตราซื้อลด (Discount rate) คือ การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารกลางคิดจากธนาคารพาณิชย์ การดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัวจะทำโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ซึ่งจะมีผลทำให้เงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น และทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
• การขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตาม (Moral suasion) เช่น การขอให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทที่มีความสำคัญ เช่น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เป็นต้น
นโยบายการเงินแบบหดตัว (Contractionary monetary policy) ทำได้โดยการลดปริมาณเงิน ผ่านช่องทางการเพิ่มอัตราเงินสดสำรอง การขายหลักทรัพย์ให้แก่ภาคเอกชน และการเพิ่มอัตราซื้อลด ซึ่งจะเป็นการดูดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางมักจะเลือกทำในยามที่ประเมินว่าเศรษฐกิจอาจจะร้อนแรงเกินไปจนอาจเกิดผลเสียตามมาในภายหลัง เช่นในช่วงที่เกิดฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัย หรือในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงๆ ในประเทศ เป็นต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts