Custom Search

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นโยบายการคลัง (Fiscal policy)

นโยบายการคลังคือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดหารายได้และการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยในการจัดหารายได้ของรัฐบาลจะมาจากการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ จากทั้งผู้ผลิต เช่น ภาษีนิติบุคคล ที่เก็บจากบริษัทห้างร้านต่างๆ หรือการจัดเก็บจากผู้บริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เราเรียกกันว่า VAT หรือจัดเก็บจากผู้มีรายได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้ ยังมีภาษีอีกหลายประเภท เช่น ภาษีสรรพสามิต ที่จัดเก็บกับสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ บุหรี่ สุรา ไพ่ หรือภาษีนำเข้าเก็บจากสินค้านำเข้า เช่น ภาษีรถยนต์ น้ำหอม นาฬิกา และเครื่องสำอางค์ เป็นต้น

เก็บภาษีได้แล้วเอาเงินไปไหน

ภาษีที่จัดเก็บได้ รัฐบาลจะนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค และการลงทุน ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ในแต่ละปี โดยปกติจะใช้จ่ายผ่านส่วนงานราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เช่น การสร้างถนน การจัดซื้ออาวุธ งบกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เป็นต้น โดยรัฐมักจะนำเงินภาษีไปใช้ในการสร้างปัจจัยพื้นฐานให้กับระบบเศรษฐกิจ หรือใช้ในการผลิตสินค้าและบริการที่เอกชนไม่ผลิต หรือที่เรียกว่า สินค้าสาธารณะ (Public goods) อาทิ การทหาร การสร้างถนนหนทาง สวนสาธารณะ สะพานลอย

ทำไมต้องมีนโยบายการคลัง
โดยหลักแล้ว นโยบายการคลังของรัฐบาล ถือเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ในยามที่เศรษฐกิจดี ภาษีที่รัฐจัดเก็บจะมีมากตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคสินค้าและบริการร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้าและบริการ ซึ่งหากเศรษฐกิจเจริญเติบโตดี เงินภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ก็จะสูงตามไปด้วย แต่หากเศรษฐกิจไม่ดี รัฐก็สามารถนำเงินภาษีมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งถือเป็นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไปในตัว กล่าวคือ ยามที่เศรษฐกิจดี หรือหากเปรียบเป็นรถที่วิ่งเร็ว การเก็บภาษีจะเป็นเสมือนการแตะเบรกไม่ให้รถวิ่งเร็วจนเกินไปจนอาจเป็นอันตรายได้ ขณะที่ยามที่รถวิ่งช้ามาก หรือเศรษฐกิจไม่ดี มีคนตกงานเยอะ รัฐจะนำเงินภาษีมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้รถวิ่งได้เร็วขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ดี หากรัฐนำเงินภาษีไปใช้ในทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหรือไม่ได้ช่วยสร้างเสริมความสามารถในการผลิตที่เรียกว่า Productivity ในที่สุดแล้ว เงินภาษีที่ใช้จ่ายออกมา อาจเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงในระยะสั้น ๆ แต่ในระยะยาวแล้ว เศรษฐกิจจะไม่ได้อะไร

การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว (Expansionary fiscal policy) คือ การที่รัฐบาลใช้จ่ายมากกว่ารายได้ภาษีที่จัดเก็บได้ หรือที่เรียกว่า งบประมาณขาดดุล ซึ่งอาจเลือกใช้ในยามที่เกิดปัญหาเงินฝืด หรือเศรษฐกิจถดถอย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเมื่อรัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้นกว่าภาษีที่จัดเก็บ ก็เป็นเสมือนการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 ก็ทำให้คนมีเงินเหลือเพื่อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เป็นต้น
การดำเนินนโยบายการคลังแบบหดตัว (Contractionary fiscal policy) คือ การที่รัฐบาลใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ภาษีที่จัดเก็บได้ หรือที่เรียกว่า งบประมาณเกินดุล ซึ่งอาจจะเลือกใช้ในยามที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อรัฐบาลใช้จ่ายน้อยลง แต่เก็บภาษีมากขึ้น ก็เป็นเสมือนการดูดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ ก็ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวน้อยลงหรือหดตัว ก็จะช่วยให้เงินเฟ้อปรับลดลงได้

นโยบายการเงินและนโยบายการคลังควรจะดำเนินไปในแนวทางที่สอดคล้องกันหรือไม่
คำตอบคือ ควรเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงินหรือการคลัง ต่างก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน คอยแตะเบรกเวลาที่เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป หรือคอยเสริมในเวลาที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น หากไม่สอดคล้องกัน เช่น นโยบายการเงินตึงตัว ขณะที่นโยบายการคลังขยายตัว ผลที่ได้ต่อเศรษฐกิจย่อมจะถูกหักล้างกันเอง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและคาดเดาผลที่จะมีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ยาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการบริโภคและการลงทุนและเป็นผลเสียต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด
ทั้งนี้ การมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินนโยบายทั้งการเงินและการคลัง จะช่วยให้เราประเมินได้ว่า ในภาวะเศรษฐกิจแบบใด นโยบายการเงินและการคลังควรจะดำเนินไปอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถประเมินได้ว่าทิศทางของภาวะเศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวของเราทั้งในการวางแผนเพื่อการบริโภคและการลงทุนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในภาวะเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Popular Posts